“เห็ด” นอกจากเป็นแหล่งอาหารเป็นวัตถุดิบชั้นยอดนำมาปรุงสร้างสรรค์อาหารได้หลากหลายเมนูให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เห็ดยังสะท้อนถึงความหลาหลาย ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมีความสัมพันธ์กับธรรมและสิ่งแวดล้อม…

ในช่วงฤดูฝนด้วยอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ช่วงเวลานี้จึงมีเห็ดหลากหลายขึ้นชุกชุม สร้างสีสันให้กับผืนป่า เป็นฤดูกาลแห่งความสมบูรณ์ ฤดูแห่งเห็ดและการเก็บเห็ด โดยเห็ดที่เกิดขึ้นในหน้าฝนนอกจากความหลากหลายในชนิดเห็ด ขนาดที่แตกต่าง รวมถึงสีสันสวย สดใสยังชวนให้ติดตาม ชวนเรียนรู้ธรรมชาติผ่านเห็ดในหลายมิติ

ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ ชวนตามนักวิจัยไปรู้จักกับเห็ดป่าในธรรมชาติ โดย ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช.ให้ความรู้ว่า ฤดูฝน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสมบูรณ์ ไม่เพียงเฉพาะต้นไม้ใหญ่น้อยที่งอกงาม สิ่งมีชีวิตต่างๆต้องการน้ำในการเจริญเติบโต หรือแม้แต่ “เห็ด” สิ่งมีชีวิตที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เมื่อถึงหน้าฝนสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีความชุ่มชื้น ฯลฯ เห็ดจึงออกดอกชุกชุม โดยเฉพาะ เห็ดป่าในธรรมชาติ  

เห็ดดาวดินเล็ก

“ช่วงหน้าฝนจึงเป็นฤดูเก็บเห็ดของชาวบ้าน แต่ด้วยเห็ดมีความหลากหลาย มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษจึงต้องพึงระวัง โดยถ้าไม่รู้จัก ไม่ทราบชนิดแน่ชัด ไม่แน่ใจไม่ควรเก็บเห็ด หรือหาซื้อเห็ดที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหาร ทั้งนี้ การเจ็บป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษส่วนใหญ่มีสาเหตุจากผู้ไม่ชำนาญ นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ดร.สายัณห์ อธิบายเพิ่มอีกว่า เห็ดที่พบเห็นอาจจัดแบ่งได้เป็นสามกลุ่มตามวิถีชีวิตของเห็ดและการนำไปใช้ประโยชน์ กลุ่มแรกที่รู้จักกันคือ กลุ่มเห็ดผู้ย่อยสลาย เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่บนเศษซากพืช ขึ้นตามขอนไม้ในป่า อย่างเช่น เห็ดขอน เห็ดลม ฯลฯ เห็ดกลุ่มนี้ช่วยย่อยสลายเศษซากพืชให้กลับกลายเป็นแร่ธาตุอาหารคืนสู่ดิน สู่สิ่งแวดล้อมในผืนป่า เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ช่วยให้พืชเจริญเจริญเติบโต และจากเห็ดกลุ่มนี้ที่พบในธรรมชาติ ต่อมาก็ได้นำมาปรับสภาพ เพาะเลี้ยงในโรงเรือนเพื่อการบริโภคและเพื่อการค้า 

เห็ดขมิ้นน้อย

กลุ่มเห็ดกึ่งย่อยสลายเห็ดที่อยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น อย่างเช่น เห็ดโคน โดยถ้าดูตามปรกติจะเหมือนกับเห็ดทั่วไปที่ขึ้นจากดิน แต่หากขุดลงไปจะเห็นส่วนที่เรียกว่าจาวปลวกซึ่งเห็ดจะงอกขึ้นมาจากส่วนนี้ หรืออีกกลุ่มเห็ด อยู่ร่วมกับรากของต้นไม้แบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยไม่เป็นอันตรายกับต้นไม้ แต่กลับช่วยการเจริญเติบโตให้กับต้นไม้ ให้ความชื้น ถ่ายเทสารอาหาร ปกป้องอันตรายจากโรคต่างๆที่จะเข้ามาทำลายพืช ขณะเดียวกันก็รับได้ประโยชน์จากการสังเคราะห์แสงของพืชฯลฯ กลุ่มนี้จึงได้ประโยชน์จากการอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกัน เห็ดในกลุ่มนี้มีหลากหลายเช่น เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ เห็ดไคล เห็ดในธรรมชาติที่เก็บจากดิน ฯลฯ” เป็นภาพรวมของเห็ดที่มีอยู่หรือที่คุ้นเคย โดยจัดแบ่งได้อย่างคร่าวๆจากที่ได้กล่าวมา 

เห็ดรังนก

เห็ด ยังเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่  นักวิจัย ดร.สายัณห์อธิบายอีกว่า เห็ดเป็นดัชนีหนึ่ง เห็ดมีความบอบบางในตัวเอง การเจริญเติบโตของเห็ดจากที่กล่าวอุณหภูมิความชื้น มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ประกอบการศึกษาในการประเมินพื้นที่ อย่างเช่น เมื่อมีเห็ดแล้วยังมีพืชมีสัตว์ มีความหลากหลายใดหรือไม่ โดยเห็ดก็เป็นคำตอบเป็นกุญแจไขไปสู่ความสมบูรณ์

“ภาวะโลกร้อนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์  สำหรับเห็ดอาจไม่มีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง แต่ก็พอเชื่อมโยงให้เห็นภาพคร่าวๆได้ โดยบางปีเห็ดเผาะไม่ออกดอก หรือออกมามาก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ผันผวนไม่ว่าจะร้อนจัด แล้งจัด หรือฝนตกหนัก ฯลฯ ย่อมส่งผลกระทบ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาติดตามต่อเนื่อง ยิ่งกับเห็ดสิ่งมีชีวิตเล็กๆ มีความเปราะบาง หากปรับตัวไม่ทัน บางชนิดอาจหายไป ได้รับผลกระทบได้ง่าย แต่ทั้งนี้สภาพแวดล้อมที่ผันผวนมากก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสิ่งมีชีวิต” เห็ดยังมีอีกหลายมิติน่าศึกษา ทั้งประโยชน์ ด้านอาหาร การนำมาบริโภค โดยเห็ดอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเป็นแหล่งโปรตีนของคนทั่วไป โดยมีข้อมูลมนุษย์รู้จักการนำเห็ดมารับประทานเป็นอาหารมายาวนาน ทั้งยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือนเพื่อการบริโภคและเพื่อการค้า หรือแม้แต่กลุ่ม เห็ดพิษ อีกเรื่องสำคัญ โดยปัจจุบันมีกลุ่มที่สนใจศึกษาโดยเฉพาะ

เห็ดปะการังอ่อนสีชมพู

“เห็ดหลายชนิดมีความแปลกตา มีสีสันสวยน่าชม”  โดยเฉพาะในเรื่องของสีสัน นอกจากสีขาวครีมที่คุ้นตา สีสันต่างๆ แทบมีอยู่ทุกสีสันในเห็ด อย่างเช่น สีน้ำเงิน ก็พบได้ แต่อาจไม่โดดเด่น ขณะที่ สีส้ม สีแดง พบเห็นได้ก็จะมี เห็ดระโงกแดง เห็ดระโงกเหลือง เห็ดระโงกส้ม ขณะที่สีขาว มีอยู่มากหลายชนิด ส่วน สีเขียวเรื่อๆ สีดำ ก็มีแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด สีเหลืองหม่นๆ หรือเหลืองสด ก็พบเห็นได้หลายชนิด ฯลฯ แต่ที่จะเห็นได้บ่อย เห็นอยู่มากจะเป็นสีครีม สีขาว ขณะที่สีเหลืองรองลงมาและก็มีเห็ดบางกลุ่มเป็น เห็ดเรืองแสง เป็นอีกความงามแปลกตา”

นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค ดร.สายัณห์ ให้มุมมองอีกว่า ความงามเหล่านี้เราอาจดีไซน์เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สร้างการเรียนรู้และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว โดยแม้จะมีความท้าทายเนื่องจากการเกิดขึ้นของเห็ดจะมีความต่างจากพืชทั่วไป แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการสำรวจ ศึกษา นอกจากนี้ เห็ดบางชนิดมีรูปร่างรูปทรงสวยงาม น่ามอง อย่างเช่น เห็ดรังนก ลักษณะคล้ายรังนกเล็กๆ มีความน่ารักลักษณะเป็นถ้วยมีก้อนกลมคล้ายไข่อยู่ในถ้วย เป็นเห็ดในกลุ่มผู้ย่อยสลายมีขนาดเล็ก เห็ดมีสีเทาๆดำๆ เห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่เห็ดอีกชนิดที่มีความโดดเด่น สีสันกระโปรงมีหลายสีทั้ง สีขาว สีเหลือง เป็นเห็ดที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย  ขณะที่ เห็ดลูกฝุ่น ก็มีความแปลกตา มีลักษณะคล้ายลูกบอลนิ่มๆ คล้ายจาวมะพร้าวขึ้นตามสนามหญ้า เป็นกลุ่มย่อยสลาย ช่วยย่อยเศษซากใบไม้ เมื่อเห็ดแก่ด้านในจะเป็นสปอร์ผงสีดำเพื่อแพร่กระจายพันธุ์ของเขา หรือ เห็ดที่มีกลิ่นเหม็น อย่าง เห็ดซากศพ ซึ่งบางครั้งเห็ดจะมีลักษณะเป็นแฉก เป็นเหมือนมือ

นอกจากนี้มี เห็ดถ้วย เป็นอีกกลุ่มที่มีความสวยงาม มีความน่ารัก ด้วยลักษณะเป็นถ้วยบางครั้งจะมีน้ำไปขังด้านใน หรือมีสัตว์ตัวเล็กๆ สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ชอบถ่ายภาพที่พบเห็น “เห็ดถ้วย เป็นเห็ดกลุ่มย่อยสลายพบเห็นได้ตามขอนไม้ มีสีเหลือง สีส้มแดง หรือแดงจัด บางชนิดมีขน และก็มีลักษณะเป็นจานขึ้นบนขอนไม้ ส่วนเห็ดที่มีขนาดเล็กๆแปลกตาก็มีไม่น้อย อย่างเช่น เห็ดแส้ม้า โดยถ้าเดินในป่าเห็นเห็ดเล็กๆแทรกขึ้นมาจากเศษใบไม้ ส่วนหมวกเห็ดลักษณะคล้ายร่ม เป็นจีบก็มี สีสวยสีแดง ฯลฯ แต่ด้วยที่มีขนาดเล็กอาจต้องสังเกต แต่อย่างไรแล้วจะขึ้นกระจายเป็นวงกว้างให้ชม”

เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก

เห็ดเล็กจิ๋วยังมีอีกหลายชนิดที่รอการศึกษา แต่อาจเป็นกลุ่มเฉพาะที่ให้ความสนใจ ด้วยเพราะขนาดที่ยากต่อการสังเกต หรือเล็กเกินไปที่จะสะดุดตา ส่วนเห็ดเด่นๆของช่วงเวลานี้ยังมี เห็ดดาวดิน จากข้อมูลเห็ดชนิดนี้เป็นชื่อเรียกของเห็ดกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยเมื่อเป็นดอกอ่อนมีลักษณะกลมถึงเกือบกลม อาจจะมีก้านขนาดเล็กหรือไม่มีก็ได้เมื่อแก่เต็มที่เปลือกหรือผนังด้านนอกจะฉีกขาดออกเป็นแฉกคล้ายกับดอกไม้หรือดาว อันเป็นที่มาของชื่อกลุ่มเห็ดดาวดิน ภายในบริเวณกึ่งกลางรอยแฉกมีก้อนกลม ๆ อยู่ตรงกลาง ภายในเต็มไปด้วยหน่วยสืบพันธุ์ หรือที่เรียกว่า สปอร์อยู่เป็นจำนวนมาก เป็นเห็ดผู้ย่อยสลายซึ่งพบกระจายอยู่ตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและมีเศษซากอินทรียวัตถุที่กำลังย่อยสลายทับถมกันหนาแน่น พบได้ทั่วทุกภาค เป็นต้น

นอกจากนี้ป่าแต่ละประเภท แต่ละพื้นยังพบเห็ดที่งอกงามแตกต่างกัน และสำหรับการศึกษาวิจัยฯ นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค ดร.สายัณห์ ทิ้งท้ายอีกว่า เราศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ศึกษาลึกไปในทางอนุกรมวิธาน ทั้งการจำแนกชนิด ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยผลจากการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเรา อีกทั้งศึกษาระบบนิเวศของเห็ด โดยศึกษากลุ่มเห็ดที่อยู่กับรากพืช ทั้งทำงานร่วมกับทางกรมป่าไม้ในด้านนิเวศวิทยา รวมถึงศึกษาเห็ดพิษ และศึกษาการปรับปรุงพันธุ์ ฯลฯ โดยส่วนหนึ่งนี้บอกเล่าความหลากหลายของเห็ด ที่เกิดขึ้นในฤดูฝน ฤดูกาลแห่งความสมบูรณ์ของธรรมชาติ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ภาพโดย : ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร