เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 17 ก.ย. ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ​ ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนายกฯ “แพทองธาร 1“ ที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมุ่งตรงไปยังนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งการแก้หนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต และกองทุนวายุภักษ์

นายอุตตม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำหนดการแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกของคณะรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่า การแก้หนี้ให้บรรลุผลนั้น ต้องทำครบวงจร เช่น รัฐบาลต้องผนึกธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเอกชน/รัฐ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยืนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เติมกำลังให้ประชาชนและเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศ ทั้งนี้ โครงการที่ทำต้องเข้าถึงประชาชนฐานรากทั่วทั้งประเทศ บริการเสมอภาคเป็นธรรม พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาร่วมขับเคลื่อน

นายอุตตม กล่าวถึงมาตรการที่ใช้ขับเคลื่อน ว่า “รัฐมนตรีการคลังควรหารือกับ ธปท. ถึงแนวทางการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือร้อยละ 0.23 ต่อ 6 เดือน ชั่วคราว 5 ปี เพื่อนำเงินที่ประหยัดได้ไปลดยอดหนี้ (haircut) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท และต้องเจรจาให้ธนาคารต้องนำกำไรสะสมมาร่วมด้วยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน” นายอุตตม กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ ได้กล่าวถึง 3 ประเด็น ที่อยากจะให้รัฐบาลได้รับทราบถึงทำงานของของพรรค พปชร. ว่า 1.ดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล และเป็นโครงการที่รัฐบาลใช้หาเสียง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐไม่สบายใจ เพราะโครงการนี้เดินบนความไม่แน่นอนตลอดเวลากว่าหนึ่งปีของรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ การเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระของโครงการคือสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอด ตั้งแต่รูปแบบเงินดิจิทัลที่หลายฝ่ายตั้งคำถามมากมาย รวมทั้งทีมวิชาการของพรรคได้ตั้งคำถามว่า เงินดิจิทัลจะใช้สกุลอะไร ไทม์ไลน์ กลุ่มเป้าหมาย วิธีการใช้จ่ายก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ข้อยุติเป็นครั้งแรกว่า จะใช้เงินสดเป็นตัวดำเนินนโยบาย จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เงินสดจากการหาเสียงมีความตรงกันหรือไม่ แต่พรรคพลังประชารัฐดีใจที่รัฐบาลจะนำเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจตามความตั้งใจตั้ง เอาเงินมาช่วยประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล กลุ่มที่จะได้รับ 14.5 ล้านคน เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ ซึ่งชัดว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลายเป็นโครงสร้างหลักของการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าแจกเงินสดผูกกับบัตรประชาชน และใช้กลไกพร้อมเพลย์ หวังว่าจะยังให้ความสำคัญกับร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่อุ้มให้ร้านค้าของประชาชนจาก 0 ร้าน เป็น 84,000 ร้าน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า 2.ผลกระทบที่รัฐบาล หวังว่าจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นต่อจีดีพี เราจะติดตามผลกระทบของพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งนี้ จะเป็นพายุหมุนสมกับเม็ดเงินงบประมาณที่รัฐบาลใช้ หรือเป็นเพียงแค่ ”ฝนหลงฤดูของรัฐบาล“

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า 3.งบประมาณ 140,000 ล้านบาท เราจะตรวจสอบว่ากระทบต่อ GDP ถึงร้อยละ 0.35 หรือไม่ และงบดังกล่าวนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ลดการเติบโตด้านอื่นหรือไม่ ทำให้เกิดผลกระทบ การที่รัฐบาลจะใช้เงินก้อนนี้ ในการทำโครงสร้างพื้นฐาน หรือประโยชน์สาธารณะอย่างไร ซึ่งการดึงงบประมาณเหล่านี้ จะมีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เราจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 36 ล้านคน รัฐบาลได้แถลงว่า จะดำเนินการแน่นอนในส่วนของผู้ที่ลงทะเบียน แต่ก็มีคำถามว่า จะทำเมื่อไหร่ จะทำอย่างไร จะทำวิธีไหน งบประมาณจะมาจากไหน นี่คือจุดใหญ่ที่ทางพรรคพลังประชารัฐ อยากเห็นโครงการเรือธงของรัฐบาล เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริง

“เราไม่อยากเห็นโครงการเรือธงกลายเป็นโครงการเรือร่ม ออกสตาร์ตแค่ปากอ่าวแล้วไปได้ไม่ไกล” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐที่นำเอา ”กองทุนวายุภักษ์“ เพื่อระดมทุนนั้น เป็นการใช้นโยบายอุ้มคนมีเงิน สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมและมีความเสี่ยงผิดกฎหมาย ตนขอเตือนว่าการระดมเงินแล้วไปเก็งกำไร ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง ทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกู้เครดิตต่ำ (junk bond) ฯลฯ ที่ไม่ใช่กิจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเสี่ยงผิดกฎหมาย

“ผมได้มีหนังสือ 4 ฉบับ เสนอแนะให้นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ทบทวน เพราะมีปัญหา 2 ด้าน คือก่อปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นการรอนสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ สิทธิของข้าราชการ และสิทธิของผู้ใช้แรงงานไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และยังอาจมีปัญหาคนต่างชาติใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี เพื่อแสวงหาประโยชน์อีกด้วย นอกจากนี้ มีความเสี่ยงผิดกฎหมาย กรณีหากมีผู้ใดฟ้องศาลให้ระงับเงื่อนไข ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนรายใหม่ได้รับความเสียหาย รัฐมนตรีคลังอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง“ นายธีระชัย กล่าว.