นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ 11 องค์กรภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้กับประชาชน โดยได้เปิดตัว “สแกม อะเลิร์ท ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพ”  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่ช่วยแจ้งเตือนภัยกลลวงและรับมือกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง รวมถึงช่องทางต่าง ๆ ขององค์กรภาคีด้วย คือ เฟซบุ๊กและฟีเจอร์ของแอปพลิเคชันฮูส์คอลล์  โดยอาชญากรรมไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่รวมถึงภาครัฐและธุรกิจด้วย  โดยถือเป็นศูนย์รวมข้อมูลเพื่อป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของไทยแบบรวมศูนย์ เพื่อจัดการกับข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ แจ้งเตือนภัย และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับทราบอย่างทั่วถึง

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ของประเทศ โดยได้ดำเนินการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ สำหรับภาคธุรกิจโทรคมนาคม”

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย)  กล่าวว่า ช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา การหลอกลวงออนไลน์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย  สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างเดือน มี.ค. 65 ถึง ก.ค. 67 พบว่า ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน และผลสำรวจเบื้องต้นจากรายงานขององค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก หรือ Global  Anti-Scam Alliance (GASA) ประจำปี 67  ยังพบว่ามีคนไทยเพียง 55%  ที่มั่นใจว่ารู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% เผยว่า ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มิจฉาชีพได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาวิธีการหลอกลวงให้มีความแนบเนียน และก้าวล้ำมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างข่าวเท็จและเว็บไซต์ปลอม ฯลฯ