เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนมาแถลงข่าววันนี้ (17 ก.ย.) ในฐานะตำแหน่งที่ปรึกษาของนายรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งในวันนี้ ซึ่งตนไม่ตื่นเต้น แต่กังวลเพราะเป็นสถานที่ใหม่ อยู่ในทำเนียบรัฐบาลต้องระมัดระวังมากขึ้น ส่วนการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ที่ประชุม ครม. ยังไม่มีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมือง เพราะอยู่ระหว่างการกลั่นกรองรายชื่อในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้นถึง 14 หน่วยงาน อาทิ กรมบังคับคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แม้กระทั่งผู้ที่เคยทำงานในองค์การมหาชน หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้นเช่นกัน โดยตนคาดว่าการประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า จะทยอยเสนอรายชื่อข้าราชการทางการเมือง และมีมติแต่งตั้งออกมา

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะให้นายจักรภพ เพ็ญแข ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ล่าสุดจะเป็นนายจิรายุมาทำหน้าที่ดังกล่าว นายจิรายุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเปลี่ยนไปได้อย่างไร ที่จริง ใครก็ทำงานได้ สำหรับนายจักรภพให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะที่นายชัย วัชรงค์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำปรึกษาเช่นกัน ซึ่งตนก็รับฟังทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ส่วนตนยังรอคำสั่งอย่างเป็นทางการ โดยค่อยว่ากันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะตรวจเฉพาะแค่ประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ครั้งนี้เพิ่มการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง กรมบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชน สำนักงานที่เป็นทั้งนิติและเป็นนิติบุคคลของผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเคยสังกัด