ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดศรัทธาธรรม ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผวจ.สมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งโดยพระครูพิพิธพิพัฒนโกศล เจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) และนายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีบางจะเกร็ง ชาวชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นเพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปโดยพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้น ผวจ.สมุทรสงคราม ถวายน้ำผึ้ง จตุปัจจัยไทยธรรมและกรวดน้ำรับพร โดยมีชาวมอญทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งปรากฏในชีวประวัติของ “พระสีวลี” พุทธสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็น “ภิกษุที่เลิศทางมีลาภ” ปรากฏเรื่องอดีตชาติหนึ่งของพระสีวลีซึ่งเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดาในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี ขณะนั้นชาวเมืองต่างแข่งขันกับพระราชาเพื่อทำบุญถวายทานแด่พระวิปัสสี ซึ่งคือพระอดีตชาติหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสองฝ่ายแข่งขันกันถึง 5 ครั้ง ก็ยังไม่มีใครแพ้ใครชนะต่างฝ่ายต่างพยายามหาของแปลกมาถวายพระวิปัสสี จนกระทั่งวันหนึ่งมีชายชาวบ้านป่าเดินถือรวงผึ้งผ่านประตูเมืองเข้ามา ชาวเมืองที่ประตูเมืองเห็นรวงผึ้งก็นึกได้ว่ายังไม่มีใครนำรวงผึ้งไปถวายพระวิปัสสี จึงเข้าไปขอซื้อรวงผึ้งจากชาวบ้านป่าโดยให้ราคาสูงมาก

ชายชาวบ้านป่าสงสัยจึงถามชาวเมืองว่าทำไมจึงจะซื้อรวงผึ้งของเขาด้วยราคาสูงมาก ชาวเมืองจึงเล่าเรื่องราวการแข่งขันทำบุญถวายทานแด่พระวิปัสสีระหว่างชาวเมืองกับพระราชา ชายชาวป่าจึงขอร่วมทำบุญด้วยโดยขอถวายรวงผึ้งโดยไม่คิดมูลค่า ชาวเมืองทั้งหลายได้ทราบต่างดีใจ จึงช่วยกันนำรวงผึ้งมาบีบเอาน้ำผึ้งใส่ถาดทองคำใบใหญ่ผสมกับเนยนมแป้งข้าวเหนียวกวนผสมกันจนนิ่มเรียกว่า “ขนมกวน” แล้วนำไปถวายพระวิปัสสีและพระสงฆ์ทั้งหลายด้วยอานิสงส์การถวายทานด้วยน้ำผึ้งของชายผู้นี้ เขาได้ไปเกิดในเทวโลกและต่อมาเกิดเป็นพระราชาแห่งกรุงพาราณสีและเป็นพระราชกุมารในราชวงศ์ศากยะมีนามว่า “สีวลีกุมาร” แปลว่า ผู้ให้ลาภ เพราะเมื่อตอนพระราชมารดาทรงพระครรภ์มีผู้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเป็นจำนวนมากเมื่อเจริญพระชนมายุได้ออกบวชกับพระสารีบุตรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และสมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ จึงเป็นที่มาของประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งสืบมาจนทุกวันนี้

นอกจากนี้ขนมกวนที่ปรากฏในชีวประวัติของพระสีวลีที่นำน้ำผึ้งผสมเนยนมแป้งข้าวเหนียวกวนจนนิ่มนั้นปัจจุบันเรียกว่า “กะละแม” นั่นเอง สำหรับวัดศรัทธาธรรมมีขนมขึ้นชื่อคือ “กะละแมรามัญ” ซึ่งใช้วัตถุดิบสูตรเดียวกันเนื่องจากชาวชุมชน ต.บางจะเกร็ง ได้รับการสืบทอดการทำขนมดังกล่าวจากบรรพบุรุษ

นายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีบางจะเกร็ง กล่าวว่า ประเพณี “ตักบาตรน้ำผึ้ง” ในเมืองไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ตนไม่ทราบ แต่ตนเกิดมาก็เห็นที่วัดศรัทธาธรรมมีแล้ว โดยวัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) ร่วมกับเทศบาลบางจะเกร็งและชาวชุมชนจัดขึ้นมานานแล้วกว่า 100 ปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 17 ก.ย. 67

อย่างไรก็ตาม ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งเป็นทางที่จะทำให้ผู้ถวายมีโชคลาภเหมือนกับพระสีวลี และยังเชื่อว่าการตักบาตรน้ำผึ้งมีอานิสงส์มาก เนื่องจากพระสงฆ์จะเก็บน้ำผึ้งไว้ใช้เป็นยาในคราวจำเป็น น้ำผึ้งถือว่าเป็นส่วนผสมของยาโบราณที่สำคัญ พระสงฆ์ไม่สามารถจัดหาได้เอง และน้ำผึ้งนอกจากเป็นยารักษาโรคแล้วยังเป็นส่วนประกอบของการทำขนมกระยาสารท รวมทั้งนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมาย เช่น ชงกับกาแฟนำไปเป็นส่วนผสมการทํากับข้าว เป็นต้น

สําหรับประเพณี “ตักบาตรน้ำผึ้ง” ปัจจุบันยังมีให้เห็นในวัดมอญตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ส่วนที่ จ.สมุทรสงคราม วัดศรัทธาธรรม หรือที่เรียกกันว่า “วัดมอญ” ยังเป็นวัดเดียวที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ เนื่องจากในพื้นที่มีพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่เป็นชุมชนประมาณ 1,000-1,500 คน และมีการสืบสานประเพณีดังกล่าวมานานนับร้อยปีแล้ว