จากกรณี สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ได้ดูแล เสือบะลาโกล ซึ่งเป็นลูกเสือโคร่ง ที่ออกมาจากป่าคลองลาน โดยมาเดินอยู่ในหมู่บ้าน ตั้งแต่เดือน ก.พ. 67 และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยกันจับได้ พบสภาพผอมโซ ดวงตาอักเสบ ก่อนไปพักฟื้นอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และรักษาด้วยการควักตาข้างซ้ายออก กระทั่งร่างกายบะลาโกลแข็งแรง จึงได้มีการนำมาปล่อยคืนสู่พื้นที่ป่า โดยมีการเลือกสถานที่ให้เหมาะสม คือพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยปล่อยในเวลา 03.00 น. วันที่ 6 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมานั้น

เปิดเหยื่อตัวแรก ‘เสือบะลาโกล’ นักวิจัยเชื่อสร้างความมั่นใจล่าสัตว์ขนาดใหญ่ขึ้น

ครบ 30 วันในป่าใหม่ อัปเดตเส้นทางชีวิต ‘เสือบะลาโกล’ พิสูจน์นักล่าสืบต่อสายพันธุ์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โพสต์ภาพพร้อมข้อความภายหลังติตามชีวิตของบะลาโกล ว่า สลัดบะลาโกล..เล่นของสูง โดยระบุว่า จากวันที่ 6 เดือน 6 สองห้าหกเจ็ด จนวันนี้เป็นเวลากว่าสามเดือนที่บะลาโกลได้โลดแล่นอย่างอิสระในป่ากว้างดงพญาเย็น-เขาใหญ่ การเดินทางส่วนใหญ่เป็นการข้ามไปมาระหว่างปางสีดากับทับลาน การเคลื่อนที่ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นว่ามันยังคงวนเวียนอยู่ในแนวสันเขาสูงชันเส้นแบ่งจังหวัด ดูเหมือนว่าจะลังเลเลือกว่าจะเป็นเสือโคราชหรือเสือปราจีน

ในความสูงชันของพื้นที่ที่บะลาโกลไปนั้น ครั้งหนึ่งได้ทำให้ทีมติดตามที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของมัน “ถึงทางตัน” เพราะว่าไม่สามารถแปลงร่างเป็น ไอแมงมุม หรือว่า ใช้วิชาตัวเบาที่จะเหาะเหินยกตัวขึ้นที่สูง ตามไปยังจุดที่มันไปอยู่ จึงเดินทางกลับมือเปล่าแถมด้วยบาดแผลเล็กน้อย

หลังจากค้างแรมในป่าสี่คืนวันนี้ในขณะที่ยังตั้งแค้มป์อยู่ในป่า ทีมวิจัยได้พยายามส่งข่าวรายงานผลการสำรวจ จึงได้ทราบว่า….เมื่อวานทีมติดตามเดินเท้าเข้าใกล้กลุ่มพิกัดเป้าหมายและสามารถรับสัญญาณVHF ได้อย่างชัดเจน แสดงว่าบะลาโกลอยู่ในบริเวณที่ต้องการตรวจสอบ จึงหลีกเลี่ยงการรบกวนซึ่งกันและกัน ทีมติดตามจึงค้างแรมในป่าเพื่อรอเวลา ให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย

กระทั่งวันนี้เมื่อตรวจสอบสัญญาณแล้วรู้ได้ว่าบะลาโกลนั้นมีทิศทางที่ออกห่างจากจุดเป้าหมาย จึงได้เห็นว่าบะลาโกลนั้นสามารถล่า “เลียงผา” สัตว์ป่าสงวนและชอบอาศัยอยู่ในที่สูงชัน เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองได้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการปรับตัวอาศัยและหากินในบ้านหลังใหม่ได้ดีทีเดียว.

ขอบคุณข้อมูลและภาพ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่