นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดภายหลังการเดินทางเข้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ วันแรก ว่า เพื่อสานงานต่อในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมีเป้าหมายในการผลักดันรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไทย อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายการทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งมั่นใจว่าสามารถไปถึงเป้าหมายที่ 3 ล้านล้านบาท เพราะในช่วงที่เหลือของปี 67 นี้ ยังมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งอีเวนต์ใหญ่ต่างๆ อาทิ ลอยกระทง เคานท์ดาวน์ การแข่งขันกีฬาที่สำคัญระดับโลก โมโตจีพี อะเมซิ่งมาราธอน รวมถึงเราเข้าใกล้ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) แล้ว แต่เป้าหมายของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ตั้งไว้ 3.5 ล้านล้านบาทนั้น มองว่าอาจไปไม่ถึง แต่เราก็ยังยึดเป้าหมายของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อพยายามเดินหน้าไปให้ถึง 3.5 ล้านล้านบาทภายในปีนี้

นายสรวงศ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ในการเดินหน้าสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ในช่วงเวลา 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค. 67) ที่เหลือนี้ จะเร่งเดินหน้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพเข้ามาให้ได้มากที่สุด ได้แก่ นักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย และมาเลเซีย​ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เงินต่อหัวต่อทริปในระดับสูง รวมถึงจัดทำแผนงานในการดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่พำนักท่องเที่ยวในประเทศไทยนานขึ้น ผ่านการปรับแผนจัดอีเวนต์ที่มีขนาดใหญ่ กระจายตัว เพิ่มความถี่ รวมถึงความคล่องตัวในการเดินทางท่องเที่ยว และสร้างความสบายใจที่จะอยู่เที่ยวในไทยนานขึ้น ส่วนในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นนั้น มองว่ามีผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้การเดินหน้าถึงเป้าหมายการสร้างรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท มีความยากมากขึ้นด้วย

“เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งในกระทรวงแล้ว ซึ่งเป็นกระทรวงที่เปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 3 คนภายใน 1 ปี ก็หวังว่าจะอยู่ได้นานกว่าคนอื่น เพราะกระทรวงนี้ถือเป็นกระทรวงหลัก แม้มีขนาดเล็ก ข้าราชการไม่มาก แต่เรามีทั้ง ททท. และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งเป็นทีมงานที่ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกระทรวงใหญ่ที่พร้อมทำงาน โดยเป้าหมายผลงานชิ้นแรกภายในปีนี้ แบ่งทำงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.งานปกติรูทีน เดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ 2.การผลักดันงบประมาณของทั้งการท่องเที่ยว รวมถึงงานด้านกีฬาที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกด้วย และ 3.นโยบายต่างๆ ที่จะมีเพิ่มเติม ซึ่งส่วนนี้ต้องขอประชุมหารือร่วมกันหน่วยงานต่างๆ ก่อน” นายสรวงศ์ กล่าว

สำหรับนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งค์) ที่การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในนั้น โดยมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมา (แมนเมค) อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก และสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทน​เมนต์​คอมเพล็กซ์)​ ส่วนนี้มองว่าภาคเอกชนน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า ส่วนกระทรวงและรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนในแง่ต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่แทน เพราะการจะมาทำแข่งขันกับเอกชนคงไม่เหมาะสม โดยมองว่าผู้ประกอบการพร้อมลงทุนในเรื่องเหล่านี้แน่นอน แต่ต้องมีการหารือในเนื้อหาร่วมกันอีกครั้ง ว่าเราจะมีการช่วยเหลือในส่วนใดหรืออย่างไรได้บ้าง อาทิ มาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติด้วย

ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือค่าเหยียบแผ่นดินนั้น ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บ แต่จุดยืนส่วนตัวนั้นเห็นว่ามีความจำเป็นในการไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย จึงขอดูในรายละเอียดและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ว่าจะเก็บในรูปแบบใดเพื่อไม่ให้กระทบกับความรู้สึกของนักท่องเที่ยว  

ทั้งพร้อมสานต่อเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) โดยจะให้เอกชนมีส่วนร่วมมากว่านี้ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนกล้าลงทุน พร้อมดึงอีเวนต์สำคัญเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวผูกสัญญาแบบ 5-10 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เช่น ดึงนักลงทุนมาทำโรงแรมในจังหวัดและกี่ปีคืนทุน และส่งเสริมมาตรการทางภาษีในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการขยายสนามบินตามนโยบายอดีตนายกฯ เศรษฐา  ซึ่งจะนำร่องในเมืองที่มีความพร้อมและเมื่อเห็นผลก็จะขยายไปยังเมืองอื่นๆ

ขณะที่ปัญหาทัวร์ทุบตลาดและทัวร์ศูนย์เหรียญ ในฐานะที่เคยเป็นกรรมาธิการการท่องเที่ยวของรัฐสภานั้น พบว่าจำนวนลดลง แต่ความโหดร้ายมากขึ้น เพราะแต่ละอย่างที่เข้ามาตอนนี้ไม่ใช้อะไรของคนไทยเลย เริ่มตั้งแต่ลงเครื่องบินมาจนถึงมาอยู่มากินก็เป็นของเราหมด ซึ่งจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูให้ละเอียดอีกครั้ง และพยายามจะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ส่วนมาตรการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีไอเดียที่จะนำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง มาทำอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และยังเป็นแคมเปญที่ช่วยทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการทุกระดับตั้งแต่ร้านส้มตำ ร้านก๋วยเตี๋ยวขนาดเล็กก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย  อย่างไรก็ตามจะต้องมีการพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดอีกครั้งว่าจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างไร