นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครบรอบ 8 ปี ว่า ดีอีจะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเตรียมเสนอร่างกฎหมาย ที่แก้ไขเพิ่มเติม จากพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในส่วนที่ให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ในกรณีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน โดยหากพิสูจน์ได้ว่าทางสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีความประมาทเลินเล่อไม่ดูแลการให้บริการลูกค้าที่ดี

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเฉลี่ยคืนเงินให้กับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้มีวงเงินที่อายัดอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และสินทรัพย์อีกประมาณ 4,000  ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีวิธีใดที่ทำให้กระบวนการสั้นลง จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานต้องรอศาลมีคำสั่งก่อน

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่าง ก.ม.เรียบร้อยแล้ว โดยต้องมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะส่งต่อให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า เห็นควรจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. หากเห็นควรเป็น พ.ร.ก. ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเป็น พ.ร.บ. ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่าเสร็จทันออกมาบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ นโยบายที่จะเร่งดำเนินการ คือ การเดินหน้าปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยการดำเนินการผ่านการใช้คลาวด์เป็นหลัก (คลาว์ด เฟิร์ส โพลีซี่) เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการในหน่วยงานราชการ มุ่งเน้นการให้บริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้จะดูแลส่งเสริมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากแพลตฟอร์มต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรฐานคุณภาพสินค้า และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ เพิ่มโอกาสให้กับคนไทย  และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยโดยตั้งเป้าหมายให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย จะต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 69 จากเดิม อันดับ 35 ในปี 66

โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (กันยายน 2566-สิงหาคม 2567) กระทรวงดีอี ได้ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์

– การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) หรือศูนย์ AOC 1441 ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 พ.ย. 66–31 ส.ค. 67 มีดังนี้

1) จำนวนสายโทรเข้า (1144) 985,538 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,231 สาย

2) ระงับบัญชีธนาคาร 291,256 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,107 บัญชี

– ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม

1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs เพจผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท ตั้งแต่ 1 ต.ค. 66–31 ส.ค. 67 (ระยะเวลา 11 เดือน) จำนวน 138,660 URLs เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566

2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 58,273 URLs เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566

– มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน

ผลการดำเนินงานถึง 31 ส.ค. 67 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 450,000 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 291,256 บัญชี

– มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า

ผลการดำเนินงานถึงวันที่ 31 ส.ค. 67 ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 1,000,000 หมายเลข ระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน จำนวน 71,122 เลขหมาย มีผู้มายืนยันยันตัวตน 418 เลขหมาย

-มาตรการแก้ไขกฎหมาย COD ซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง

ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ต.ค. 67 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน ก.ค. 67 ที่ผ่านมา

2.การแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหล

ผลการดำเนินการของศูนย์ PDPC Eagle Eye โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ระหว่าง พฤศจิกายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567 รายละเอียดดังนี้

1) สถิติผลการดำเนินการตรวจสอบ ค้นหา เฝ้าระวัง ทั้งสิ้นจำนวน 43,561 หน่วย โดยมีสัดส่วนการรั่วไหลของข้อมูลลดลง จากเดือน พ.ย. 66 ร้อยละ 31.40 ลดลงเหลือ ร้อยละ 1.5 ในเดือน ส.ค. 67

2) แก้ไขปัญหาการซื้อขายข้อมูล ปิดกั้นโซเชียล 110 เรื่อง ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)  จับกุมได้ 9 ราย และลงโทษปรับบริษัทเอกชนทำข้อมูลรั่วไหล เป็นจำนวนเงิน 7 ล้านบาท

3.เร่งขับเคลื่อนดิจิทัลระดับภูมิภาค

เร่งรัดส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลในจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ระดับอำเภอ โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้

1) โครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต”

เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนและยกระดับเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ใน 4 มิติ คือ 1. ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม) 2. ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) 3. ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ) 4. ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ) โดยดำเนินการในพื้นที่ 878 อำเภอ ทั่วประเทศ

2) โครงการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชน และประชาชน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การใช้เทคโนโลยีเพื่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ จำนวน 2,222 แห่ง

3) ดำเนินการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน 24,654 หมู่บ้าน

4) โครงการ “ชุมชนโดรนใจ” หรือ One Tambon One Digital (OTOD) ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ดำเนินการในกว่า 500 ชุมชน พื้นที่ให้บริการกว่า 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ ยกระดับทักษะเกษตรกรกว่า 1,000 คน สร้างธุรกิจบริการโดรน 50 ชุมชน สร้างอาชีพใหม่ช่างโดรนชุมชน และเกิดศูนย์สอบอนุญาตการบินโดรน 5 ภูมิภาค รวมทั้งช่วยให้เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท

4.นโยบาย Cloud First Policy

ผลักดันการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก มุ่งสู่การเป็น Cloud Hub ของภูมิภาค โดยยกระดับการทำงานของภาครัฐด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผลการดำเนินการดังนี้

– ให้บริการระบบคลาวด์ เพื่อพัฒนาการบริการประชาชน ในหน่วยงานภาครัฐ 220 กรม จำนวน 75,000 VM

– ประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลของประเทศ 30-50%

– ส่งเสริมการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล และการใช้ประโยชน์ Big Data

– สนับสนุนท้องถิ่นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงาน

– ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

5. AI Agenda

ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยดำเนินการใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI

– การพัฒนาแพลตฟอร์มรวมบริการด้าน AI บนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ในโครงการ National AI Service Platform

– เตรียมความพร้อมด้านจริยธรรม/กฎหมาย/สังคม AI Ethics, Governance, Regulation

2) การพัฒนาทักษะด้าน AI

– การพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี AI ผ่านกลไกสำคัญอย่าง Upskill, Reskill และ New Skill ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน

– จัดกิจกรรมการระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้/ทักษะ ด้านเทคโนโลยี AI สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และประชาชน

3) เร่งรัดการจัดทำระบบ AI Use Case ในภาครัฐและเอกชน เช่น AI Use Case การพยากรณ์อากาศระยะปัจจุบันอัจฉริยะ พยากรณ์กลุ่มฝนเชิงพื้นที่ระดับอำเภอ (ระยะ 3 ชม. ข้างหน้า) บริเวณ 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ และแผนที่เสี่ยงภัยสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมาก

6.การพัฒนากำลังคนดิจิทัล Digital Manpower

– ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลในทุกระดับด้วยโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลกำลังคนดิจิทัล ผ่าน Digital ID (Credit bank) โดยเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัล 550,000 คน ร่วมกับเอกชน

– ดึงดูดกำลังคนดิจิทัล ภายใต้โครงการ Global Digital Talent VISA

– ดำเนินโครงการ อาสาสมัครดิจิทัล และสภาเยาวชนดิจิทัล ขยายผลให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชน

7. Startups & SMEs ไทยแข่งได้

– โครงการ บัญชีบริการดิจิทัล Thailand Digital Catalog โดย ดีป้า ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัล เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยรัฐสามารถใช้กระบวนการทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัล ช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐานและสามารถตรวจสอบได้

– ผลักดันมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Tax 200%

– การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดิจิทัลจากผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และระดับสากล ภายใต้เครื่องหมาย dSURE

-แก้ไขปัญหานำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาต่ำ โดยออกกฎหมาย มาตรการที่เข้มข้น และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำผิดกฎหมาย

8.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล

การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023  ตาม IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 ดีขึ้น 5 อันดับ โดยไทยอยู่อันดับที่ 35 จากเดิม อันดับที่ 40 ในปี 2565