ผักกาดขาว เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นกว่า และมักปลูกในพื้นที่ภูเขา ซึ่งเคยมีอุณหภูมิในช่วงฤดูเพาะปลูกสำคัญ หรือฤดูร้อน แทบไม่สูงเกิน 25 องศาเซลเซียส แต่งานศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กำลังคุกคามพืชผลเหล่านี้อย่างหนัก จนถึงขั้นที่เกาหลีใต้อาจไม่สามารถปลูกผักกาดขาวได้อีกต่อไปในสักวันหนึ่ง เพราะความร้อนที่รุนแรง

“พวกเราหวังว่า การคาดการณ์เหล่านี้จะไม่เป็นจริง” นายอี ยอง-กยู นักโรคพืช และนักไวรัสวิทยา กล่าว “ผักกาดขาวมักจะเติบโตในสภาพอากาศเย็น และปรับตัวเข้ากับช่วงอุณหภูมิที่แคบมาก ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18-21 องศาเซลเซียส”

ในพื้นที่เพาะปลูกและห้องครัว ทั้งเชิงพาณิชย์และในครัวเรือน บรรดาเกษตรกรและผู้ผลิตกิมจิ ต่างรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว

แม้กิมจิสามารถทำมาจากผักชนิดอื่น ๆ เช่น หัวไชเท้า, แตงกวา และต้นหอม แต่กิมจิที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ยังคง
ทำมาจากผักกาดขาว

น.ส.อี ฮา-ยอน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิ จากกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้ อธิบายถึงผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อผักว่า อากาศร้อนทำให้แกนกลางของผักกาดขาวเน่า และรากของมันจะเละ ซึ่งถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไป เกาหลีใต้อาจต้องเลิกผลิตกิมจิผักกาดขาวในฤดูร้อน

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลโซล เผยให้เห็นว่า พื้นที่เพาะปลูกผักกาดขาวบนที่ราบสูง เมื่อปี 2566 มีขนาด 3,995 เฮกตาร์ ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ขนาด 8,796 เฮกตาร์ ใน 20 ปีที่แล้ว

ตามรายงานของสำนักงานพัฒนาชนบท (อาร์ดีเอ) ซึ่งเป็นคลังสมองด้านการเกษตรของรัฐ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลงอย่างมากในอีก 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 44 เฮกตาร์ และเกาหลีใต้จะไม่สามารถปลูกผักกาดขาวบนที่ราบสูงได้ ภายในปี 2633

ด้านนักวิจัยหลายคนระบุเสริมว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น, ฝนตกหนักที่คาดการณ์ไม่ได้ และแมลงศัตรูพืช ซึ่งควบคุมได้ยากกว่าเดิมในฤดูร้อนที่อบอ้าวและยาวนาน เป็นสาเหตุที่ทำให้พืชผลลดลง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยังเพิ่มความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลีใต้ ที่กำลังต่อสู้กับการนำเข้ากิมจิราคาถูกจากจีนอยู่แล้ว

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้พึ่งพาการจัดเก็บแบบควบคุมอุณหภูมิขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันปัญหาราคาพุ่งสูงและการขาดแคลน ในขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ระดับชาติเร่งพัฒนาพันธุ์พืชที่สามารถเติบโตในสภาพอากาศที่อบอุ่น และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณนํ้าฝน และการติดเชื้อได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย ยังคงมีความกังวลว่า พันธุ์พืชเหล่านี้อาจมีต้นทุนในการปลูกที่สูงกว่า และมันอาจมีรสชาติที่ไม่ค่อยดีด้วย.