สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ว่า น.อ.พิเศษ เจย์ ตาร์เรียลา โฆษกกองกำลังยามฝั่งฟิลิปปินส์ กล่าวถึงการถอนเรือตรวจการณ์ “บีอาร์พี เทเรซา มักบานัว” ออกจากการประจำการบริเวณแนวปะการังซาบินา ในทะเลจีนใต้ หลังประจำการมานานกว่า 5 เดือน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา “ไม่ได้หมายความว่าฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายสูญเสีย” เพราะยังคงมีเจ้าหน้าที่ยามฝั่งประจำการ อยู่ที่แนวปะการังเอสโกดา ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน


ขณะเดียวกัน น.อ.พิเศษ ตาร์เรียลา กล่าวว่า ไม่ควรมีการเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ กับกรณีพิพาทเมื่อปี 2555 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายยอมถอย นำเรือออกจากแนวสันดอนสการ์โบโรห์ ในทะเลจีนใต้ หลังเผชิญหน้าและปะทะกับเรือของจีนมานานถึง 2 เดือน หลังจากนั้น จีนเข้ายึดครองแนวสันดอนแห่งนี้ทันที เนื่องจากแนวปะการังซาบินา มีขนาดใหญ่กว่ามาก และ “ไม่มีทาง” ที่จีนจะขัดขวางการลาดตระเวนของเรือฟิลิปปินส์ ซึ่งจะกลับเข้ามาอีกในอนาคต


อนึ่ง แนวสันดอนสการ์โบโรห์ อยู่ห่างจากเกาะลูซอน ซึ่งอยู่เหนือสุดของฟิลิปปินส์ ประมาณ 240 กิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากมณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ ทางใต้สุดของจีน ไกลถึง 900 กิโลเมตร


ทั้งนี้ สภาการเดินเรือแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ให้ระบุเหตุผลของการถอนเรือออกจากบริเวณดังกล่าวว่า “เสร็จสิ้นภารกิจแล้ว” และลูกเรือบนเรือลำดังกล่าว จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจทางการแพทย์ อีกทั้งเรือต้องเข้าสู่กระบวนการซ่อมบำรุงตามกำหนดการด้วย


อย่างไรก็ตาม เรือของเจ้าหน้าที่ยามฝั่งจีน ขัดขวางภารกิจของฟิลิปปินส์ ในการส่งเสบียงให้กับลูกเรือเทเรซา มักบานัว เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลให้เสบียงร่อยหรอ และอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ทำให้ฟิลิปปินส์ตัดสินใจให้เรือเดินทางกลับมาก่อน

ขณะที่สำนักงานยามฝั่งจีนออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฟิลิปปินส์ ว่าบ่งชี้ “การมีอำนาจอธิปไตยที่ไม่อาจโต้เถียงได้” ของจีน เหนือแนวปะการังเซียนบิน ซึ่งเป็นชื่อภาษาจีนของแนวปะการังซาบินา และน่านน้ำทั้งหมดที่อยู่โดยรอบ


แถลงการณ์ของฝ่ายจีนระบุด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายล่วงละเมิดอธิปไตยของจีนในบริเวณนี้ การดำเนินการของฟิลิปปินส์ บ่อนทำลายเสถียรภาพ และความมั่นคงของทะเลจีนใต้ “อย่างร้ายแรง” และจีนขอเตือนฟิลิปปินส์อีกครั้ง ให้ยุติการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อหาเสียงสนับสนุนจากประเทศอื่น และหันมาเจรจากับจีน ตามแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ “เพื่อพบกันครึ่งทาง”.

เครดิตภาพ : AFP