เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่วัดนิคมพัฒนาราม (ผัง 7) ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อ.น้อยหน่า) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เยี่ยมชมการขับเคลื่อนธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยได้รับเมตตาจาก พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม พร้อมด้วยพระเถรานุเถระ ร่วมต้อนรับ โดยนายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายอิทธิพงศ์  ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมาน  พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย โดยมี นายเชษฐ บุตรรักษ์ นายอำเภอมะนัง ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่โต๊ะหมู่บูชาเบื้องหน้าพระประธานอุโบสถ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระเถรานุเถระ รับชมการรำวงมหาดไทย โดยชมรมรักษาสุขภาพตำบลมะนัง การแสดงรำโนรา โดยกลุ่มเยาวชน และเยี่ยมชมร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน ขนมพื้นบ้าน ของกลุ่มสัมมาชีพตำบลนิคมพัฒนา พร้อมเยี่ยมชมระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งพระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม เป็นผู้นำการขับเคลื่อนและขยายผลในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า “ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)” เป็นความคิดริเริ่มของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระนิเทศศาสนคุณ (เจ้าคุณสมาน สิริปัญโญ) เมื่อครั้งท่านเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่หลักธรรมอยู่ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายสิบปี ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ ได้นำเอาเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินมาเผยแพร่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้น้อมนำเอาหลักคิดหลักการของการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน 2 ประเภท คือ ระบบปิดและระบบเปิดมาส่งเสริมให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยในส่วนของธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด พี่น้องประชาชนสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง เป็นหลักวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ ว่า ผิวดินโมเลกุลจะละเอียดหรือเล็กมาก ถ้าเราขุดลึกลงไปคืบกว่า ๆ ดินจะแห้ง เพราะน้ำไม่สามารถซึมลึกลงไปใต้ดินได้ ดินเวลาเปียกน้ำผิวดินก็จะชิดกัน ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำท่วม น้ำขัง เกิดจากเหตุที่ว่าน้ำไม่สามารถซึมลงสู่ใต้ดินได้ เราก็ขุดลงไปในดินอย่างที่หลวงพ่อพระครูโสภณปัญญาสารทำที่วัดผัง 7 คือ ขุดลงไปประมาณ 1 เมตร แล้วก็ใส่หินหยาบแข็ง ๆ ลงไป และด้านบนอาจจะใช้หินละเอียดขึ้นหน่อย ความกว้างแล้วแต่พื้นที่ หลังจากนั้น เวลาฝนตกลงมาน้ำก็สามารถซึมลงไปในดินด้วยความรวดเร็ว ซึ่งเหมาะกับทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภาคใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนเยอะ และมีจุดที่น้ำท่วมขังเยอะ จุดไหนที่มีน้ำท่วมขังก็ทำไว้ ส่งผลให้รากพืช รากต้นไม้ ดูดน้ำมาใช้ได้ในอนาคต ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มพูนขึ้น เพราะเวลาฤดูแล้งน้ำในดินยังอุดมสมบูรณ์อยู่

“ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด คือ การที่เราหาที่หาทางหาจุดที่เหมาะสม ขุดเป็นบ่อหรือเป็นสระ หรือเป็นหนอง เป็นบึง ให้มีความลึก น้ำที่อยู่ใต้ดินก็จะมีตาน้ำ ให้เรามีน้ำใช้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้สามารถประยุกต์ไปใช้ในการทำถนนได้ด้วย เพราะเวลาเราสร้างถนน สิ่งที่จะต้องทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากก็ คือ รางน้ำซีเมนต์ เราสามารถแทนที่ด้วยการขุดแล้วเอาหินใส่กลายเป็นถนนไร้ท่อ และน้ำก็สามารถลงไปสู่ใต้ดิน ทำให้ไม่มีท่วมขังอยู่ และยังจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยุงก้นปล่อง รวมถึงแก้ปัญหาบริเวณที่เป็นน้ำขังจนเน่าเหม็นก็แก้ไขได้ด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งหลักการของการดำเนินการธนาคารน้ำใต้ดินนี้สอดคล้องกับหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ถ้าเราคิดเอาองค์ความรู้มาบูรณาการและทำให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่อย่างเป็นประโยชน์ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณพระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ที่เป็นพระสงฆ์ต้นแบบตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาดไทยและมหาเถรสมาคมทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ 1) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ที่คณะสงฆ์อำเภอมะนังก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านรักษาศีล 5 ดีเด่น สะท้อนจากสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ อาทิ ในช่วงวันหยุด หลวงพ่อก็เปิดพื้นที่ลานวัดหน้าหลวงปู่ทวด ให้เด็กและเยาวชนได้ฝึกการละเล่นพื้นบ้าน “รำโนรา” ได้สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เด็กเป็นผู้มีศีลธรรมจริยธรรมควบคู่การรักษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน 2) ด้านสาธารณสงเคราะห์ ท่านก็เป็นต้นแบบของการสงเคราะห์ช่วยเหลือญาติโยม ทั้งเรื่องการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอน เผยแผ่ศิลปวัฒนธรรม แล้วยังช่วยสงเคราะห์ญาติโยมที่เดือดร้อนให้มีปัญญาสำหรับการประกอบสัมมาชีพตามหลักศาสตร์พระราชา พึ่งพาตนเอง รวมถึงการสงเคราะห์ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ และยังให้ทุนการศึกษาเด็ก และ 3) การสาธารณูปการผ่านโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (วัด 5 ส) ก็มีสถานที่ที่สะอาดสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความร่มรื่น เป็นรมณียสถานในการปฏิบัติธรรม ทั้งได้สงเคราะห์ญาติโยมให้รู้จักเรื่องการทำธนาคารน้ำใต้ดิน การคัดแยกขยะ การทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การดูแลทำความสะอาดจัดระเบียบบ้านเรือนให้สวยงาม สะอาด

“ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ได้ช่วยสงเคราะห์ให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ท่านนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ตลอดจนถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูลได้ดวงตาเห็นธรรมในการน้อมนำศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร ตลอดจนถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและมหาเถรสมาคมทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เต็มทั่วทั้งพื้นที่จังหวัดสตูล อันจะส่งผลให้พวกเราทุกคนได้ทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

พระครูโสภณปัญญาสาร กล่าวว่า อาตมภาพได้นำระบบธนาคารน้ำใต้ดินตามศาสตร์พระราชามาเสริมมาขับเคลื่อน โดยเฉพาะที่วัดผัง 7 ได้ทำธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 110 บ่อ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดิน มีประโยชน์ในการเก็บน้ำช่วงฤดูฝนและสร้างความชุ่มชื้นให้กับหน้าดินในฤดูแล้ง และที่สำคัญที่สุด “การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร” โดยเฉพาะ “ผลปาล์ม” ซึ่งจากการแนะนำญาติโยมบริเวณโดยรอบวัดได้ลองทำ สามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมไม่ต่ำกว่า 5 เท่า เช่น จากเดิมมีสวนปาล์ม 1 แปลง จากเดิมก่อนทำธนาคารน้ำใต้ดิน ขายปาล์มได้ 10,000 หลังทำธนาคารน้ำใต้ดิน สามารถขายปาล์มได้เพิ่มเป็น 50,000 ตรงนี้เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก และพยายามแนะนำชาวบ้านญาติโยมว่า ท่านใดที่มีสวนปาล์มหรือสวนผลไม้ที่เก็บน้ำฝนไว้ช่วงฝนตกลงดินให้รีบทำ เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อผลผลิต และที่สำคัญที่สุด คือ ธนาคารน้ำใต้ดินสามารถเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งได้จริง นอกเหนือจากการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นในส่วนของจังหวัดสตูลที่ผ่านมา โดยเฉพาะอำเภอมะนัง อาตมภาพได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนนำทฤษฎีธนาคารน้ำใต้ดินมาขับเคลื่อน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีความอยู่ดีกินดีจากการที่มีรายได้เพิ่ม แม้ข้าวของแพง น้ำมันแพง แต่ถ้าพี่น้องประชาชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย พี่น้องประชาชนก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข