นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 6 – 12 กันยายน 2567  มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ง. เร่งออกกฎหมายใหม่ คืนเงินจากแก๊งคอลเซนเตอร์ ติดต่อขอเงินคืนผ่านเฟซบุ๊ก

อันดับที่ 2 : เรื่อง เปิดช่องทางให้ทดลองลงทุนสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป กำกับดูแลโดย ก.ล.ต.

อันดับที่ 3 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเว็บไซต์ใหม่ชื่อ SET STATION

อันดับที่ 4 : เรื่อง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก ชื่อว่า สำนักงานช่วยเหลือ

อันดับที่ 5 : เรื่อง ผู้นำด้านทองคำให้โอกาสเข้าเทรดหุ้นทองคำ เริ่มต้น 1,000 บาท ปันผล 390 บาทต่อวัน รับรองโดย ก.ล.ต.

อันดับที่ 6 : เรื่อง กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์-แจ้งเตือน เหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์

อันดับที่ 7 : เรื่อง แนะนำเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านการลงทุน SET THAILAND รับรองโดย ก.ล.ต.

อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเพจเฟซบุ๊ก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์

อันดับที่ 9 : เรื่อง สำนักงานกิจการยุติธรรมเปิดลงทะเบียนผ่านเพจเฟซบุ๊ก เพื่อรับการชดใช้คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซนเตอร์

อันดับที่ 10 : เรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดช่องทางติดต่อผ่านไลน์

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น ยังคงพบว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าวการทำธุรกรรมที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 ที่แอบอ้างว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ง. เร่งออกกฎหมายใหม่ คืนเงินจากแก๊งคอลเซนเตอร์ ติดต่อขอเงินคืนผ่านเฟซบุ๊ก” ทั้งนี้จากการประสานงานตรวจสอบร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่าข้อมูลที่มีการอ้างในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่เป็นความจริง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถนำเงินไปคืนแก่ผู้เสียหายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างฯ และยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. ไม่เคยมีการเปิดให้ผู้เสียหายทุกรายคดียื่นคำร้องหรือส่งหลักฐานการถูกหลอกผ่านสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด” นายเวทางค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อน