เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่วัดประชาบำรุง หรือ วัดลูกวัว เขตบางขุนเทียน  คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร จัดงานสัมมนา “การจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อความยั่งยืนทางระบบนิเวศ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”  เพื่อติดตามการหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมายกับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้ไล่เรียงไทม์ไลน์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2556 ที่พบการส่งออก ส่วนปี 2560 พบว่า DNA เลือดชัดไม่แตกต่างกัน  จากนั้นในปี 2561 มีการสั่งห้ามนำเข้าและจัดถึงงบประมาณแก้ไข และปี 2563 เกิดการแพร่กระจายในวงกว้างขึ้น พบปลาหมอคางดำในพื้นที่ 7 จังหวัด ปีถัดมา 2564 สั่งห้ามเพราะทันเพิ่มมาตรการที่เข้มงวด โดยในปี 2565 มีการวิจัยระบุถึงแหล่งที่มาที่เดียวกัน จนในปี 2566 ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการติดตามในประเด็นนี้มาเรื่อยๆ ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร

นายณัฐชา กล่าวว่า ยืนยันที่จะเกาะติดกับปัญหานี้ โดยจะไม่หยุด หากรัฐยังไม่แก้ไขใน 3 ประเด็น ได้รับการดำเนินการ 1. ถ้ายังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติและเยียวยาประชาชน 2. จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3. ถ้ายังไม่มีงบมาเยียวยาก็จะไม่หยุดเรื่องนี้ จะยกระดับการดำเนินการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาความจริงทั้งหมด กรรมาธิการจะสรุปผลการศึกษาในประเด็นปัญหาดังกล่าวในช่วงสิ้นเดือนนี้

“หลังจากนี้จะนำทีมชาวบ้านและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปติดตามความคืบหน้าในแต่ละกระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายณัฐชา กล่าว

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานกรรมาธิการ การอุดมศึกษาฯ สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ ได้สอบถามประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนที่มาร่วมในเวทีวันนี้ เกี่ยวกับการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ  โดยนายวัลลภ ขุนเจ๋ง เกษตรกรในพื้นที่สมุทรสงคราม ได้ลุกขึ้นสอบถามการทำงานของภาครัฐ แก้ไขปัญหาล่าช้าทำให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่อย่างกว้างขวางหลายจังหวัด

ส่วนนายปัญญา โตกทอง เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง ได้สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับค่าดำเนินการทางกฎหมาย ว่าชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องกำลังทรัพย์ที่จะต้องมาใช้สำหรับการดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย  ซึ่งหากจะเรียกค่าเสียหายวงเงิน 1 ล้านบาทจะต้องวางเงินค่าวางศาล 25,000 บาท และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จึงขอให้แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมยกเลิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้  เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบ และเสนอเปลี่ยนให้กำหนดไว้เพียง 1 บาท

ทั้งนี้ในงานมีสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งบูธเพื่อทำแบบสอบข้อเท็จจริง กรณีผลกระทบของการระบาดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ทำให้กลุ่มประมงได้รับความเสียหาย ซึ่งมีประชาชน เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด มายื่นแบบฟอร์มเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 50 คน.