เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวี​รกูล​ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะ ผู้บัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุม กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ว่าวันนี้เป็นการเปิดกองบัญชาการฯ ตามอำนาจหน้าที่ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยปี 2550 และแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เพราะสถานการณ์ขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่เราประมาทไม่ได้ และพยายามเต็มที่ที่จะประคับประคองสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้าง ยืนยันว่ารัฐบาล ภายใต้การสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรามีความพร้อมให้ความช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ มีการบูรณาการความช่วยเหลือของทุกกระทรวงหน่วยงาน เข้าไปในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน มีการจัดตั้งหน่วยงานประจำพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวในการสั่งงานดำเนินการหากมีสถานการณ์ที่เป็นการฉุกเฉิน และจัดตั้งให้ส่งข้อมูลข่าวสารร่วมกันเพื่อที่จะได้วางแผนและดำเนินการ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร

นายอนุทิน กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะดำเนินการเชื่อมโยงวอร์รูม (War Room) ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อร่วมคาดการณ์ ประสานการแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่รวดเร็วถูกต้อง ชัดเจน และเป็นเอกภาพ รวมไปถึงการสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ตรงเป้าหมายและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะลดความสูญเสียและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเตรียมการ มอบหมายความรับผิดชอบรวมถึงผู้ที่จะต้องช่วยให้การป้องกันทั้ง สทนช. และ กรมชลประทาน ส่วนบรรเทาสาธารณภัยคือกระทรวงมหาดไทย จังหวัด ทหาร ตำรวจ ส่วนการเยียวยาพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งจัดทำบัญชีรวบรวม ศึกษาข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนรายหลังคาเรือนเพื่อให้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้การสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนาม คาดว่าวันอังคารที่ 17 ก.ย. นี้จะเสนอ ครม.พิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีต่อไป

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนการเยียวยาทางอ้อม เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ที่เร่งให้คณะกรรมการพิจารณาลดค่าน้ำค่าไฟให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขต โดยเร็วที่สุด คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะทราบรายละเอียด

ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เริ่มวางแผนป้องกันแชร์ข้อมูลข่าวสารตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหาร ของยังชีพที่จะสามารถนำส่งให้พี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้ ในกรณีที่ติดอยู่ ไม่มีความสะดวกไม่มีน้ำไม่มีไฟจะมีอาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางอาหารครบ ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมเพราะแต่ละจังหวัด มีความพร้อมในการจะดำเนินการดูแลทั้งที่พักที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคและป้องกันโรคต่างๆ แล้ว

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนบางจังหวัดที่คลี่คลายลง ก็ต้องเข้าไปฟื้นฟูชะล้าง เคหสถานบ้านเรือน รัฐบาลจะจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ เข้าช่วยเหลือประชาชนเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือนคืนสภาพให้เข้าสู่ปกติโดยเร็วที่สุด โดยย้ำว่าเครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากร เครื่องจักรตลอดจนแผนดำเนินการ ถูกจัดตั้งขึ้นมาทุกจังหวัดรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ความมั่นใจว่าพวกเราไม่มีทอดทิ้งพี่น้องประชาชน และมีความพร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยา

เมื่อถามถึงสถานการณ์น้ำ จังหวัดหนองคายขณะนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ไปเมื่อวาน มีการเตรียมพร้อมสถานการณ์ ซึ่งทราบว่าเช้านี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ทางพื้นที่ได้เร่งทำคันดินและพนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเอาไว้ ส่วนพื้นที่ริมตลิ่ง ถือเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่สามารถปรับตัวได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็เร่งเกลี่ยทางเพื่อให้น้ำสามารถระบายออกจากพื้นที่ได้สะดวก ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไร ก็คาดว่า สถานการณ์น้ำพื้นที่ในจังหวัดอีสาน จะไม่หนักเท่าพื้นที่ภาคเหนือ แต่จังหวัดหนองคาย นครพนม บึงกาฬ ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์

ส่วนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย นายอนุทิน กล่าวว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ขออนุมัติงบประมาณไปแล้ว 100 ล้านบาท โดยจังหวัดใดก็ตามที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย มีเงินทดรองเบื้องต้น 20 ล้านบาท แต่หากไม่เพียงพอ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินโดยกรมบัญชีกลางจะเร่งดำเนินการให้ในช่วงนี้