สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงฮาราเร ประเทศซิมบับเว เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ว่า ซิมบับเวเตรียมกำจัดช้าง 200 ตัว หลังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร

นายพริสกา มัปฟูมิรา รมว.สิ่งแวดล้อมซิมบับเว กล่าวว่า ประเทศแห่งนี้ มีช้าง “มากเกินความจำเป็น” รัฐบาลจึงสั่งให้หน่วยงานอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าซิมบับเว (ซิมพาร์คส) เริ่มดำเนินการกำจัดช้าง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2531

นายฟุลตัน มังวันยา ผู้อำนวยการซิมพาร์คส เปิดเผยว่า ซิมบับเวจะล่าช้าง 200 ตัว ในพื้นที่ ซึ่งเคยเกิดเหตุปะทะระหว่างช้างกับมนุษย์ รวมถึง ‘ฮวังเก’ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติใหญ่ที่สุดของประเทศ

ปัจจุบัน ซิมบับเวเป็นแหล่งอาศัยของช้างประมาณ 100,000 ตัว และมีประชากรช้างมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากบอตสวานา ซึ่งความพยายามในการอนุรักษ์ ทำให้ฮวังเกเป็นถิ่นอาศัยของช้าง 65,000 ตัว เกินกว่าที่รองรับได้ถึง 4 เท่า ตามข้อมูลของซิมพาร์คส

ขณะเดียวกัน นามิเบียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของซิมบับเว กล่าวในเดือนนี้ว่า ได้ฆ่าสัตว์ป่าไปแล้ว 160 ตัว จากแผนการฆ่าสัตว์มากกว่า 700 ตัว ซึ่งรวมถึงช้าง 83 ตัว เพื่อรับมือกับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยซิมบับเวและนามิเบีย เป็นหนึ่งในหลายประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ที่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจากภัยแล้ง

ตามการคาดการณ์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชาวซิมบับเวประมาณร้อยละ 42 มีชีวิตความเป็นอยู่ยากจน ด้านข้อมูลของรัฐบาลซิมบับเวระบุว่า ประชาชนประมาณ 6 ล้านคน ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือน พ.ย.-มี.ค. ของแต่ละปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาอาหารขาดแคลนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การล่าช้างเพื่อเป็นอาหาร ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี “รัฐบาลต้องมีวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับภัยแล้งโดยไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว” นายฟาไร มากูวู ผู้อำนวยการศูนย์กำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติไม่แสวงหาผลกำไร กล่าว พร้อมย้ำว่า การมีอยู่ของช้าง สร้างกำไรมากกว่าผลเสีย

ขณะที่นายคริส บราวน์ นักอนุรักษ์และซีอีโอของหอการค้าสิ่งแวดล้อมแห่งนามิเบีย กล่าวว่า ช้างส่งผลกระทบร้ายแรงต่อถิ่นที่อยู่อาศัย หากปล่อยให้จำนวนของมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมันสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จริง ๆ

นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสัตว์สายพันธุ์อื่น ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และมีความสำคัญน้อยกว่าในสายตาของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แม้พวกมันจะสำคัญเทียบเท่ากับช้าง

ขณะที่รัฐบาลซิมบับเวให้เหตุผลว่า การสังหารช้าง 83 ตัว เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยของช้างประมาณ 20,000 ตัว ในประเทศ และจะช่วยบรรเทาแรงกดดัน ต่อการเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำตามธรรมชาติด้วย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES