เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเวลา 15.00 น. วัดที่จุดวัดบ้านหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม วัดได้ 11.10 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อเช้านี้ 20 เซนติเมตร เหลืออีกเพียง 90 เซนติเมตร ก็จะถึงจุดวิกฤติ โดยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งจังหวัด ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับมีน้ำเหนือไหลมาสมทบในปริมาณที่มาก เนื่องจากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ ใน สปป.ลาว เนื่องจากมีปริมาณน้ำเกินความจุ เป็นเหตุให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพิ่มสูงขึ้นวันเดียวเกือบเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่งในที่ลุ่มคือที่บริเวณหมู่ 7 บ้านดอนแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมนาข้าวและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมถึงบ้านเรือนราษฎร ทำให้ต้องขนของหนีน้ำกันอย่างเร่งด่วน

นายวิจิตร พรหมจอม อายุ 56 ปี ชาวบ้านดอนแพงหมู่ 7 ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม กล่าวว่า ตลอด 3 ถึง 4 วันที่ผ่านมา สังเกตระดับของแม่น้ำโขง เริ่มเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนที่ผ่านมา ระดับน้ำไหลท่วมขึ้นมาค่อนข้างรวดเร็ว เพิ่งจะมาทรงตัวช่วงเที่ยงๆ ของวันนี้เอง แต่ที่เป็นห่วงที่สุด เมื่อทราบว่าทางจังหวัดบึงกาฬ มีระดับน้ำค่อนข้างสูงและไหลอย่างรุนแรง จึงห่วงว่าเมื่อมวลน้ำไหลลงมาถึงพื้นที่อำเภอบ้านแพง อาจเกิดความเสียหายมากขึ้นไปกว่านี้

นายไพรัตน์ ราชนาวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า มีพื้นที่นาข้าว และพื้นที่เลี้ยงวัวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำโขง ที่ได้เอ่อล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งขึ้นมา เนื่องจากเขื่อนมีระดับต่ำกว่าจุดวิกฤติ ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดวิกฤติ น้ำก็ล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้ว เบื้องต้นมีหน่วยงานทั้งเทศบาลตำบลบ้านแพง ทางอำเภอ รวมทั้งปศุสัตว์ ได้นำฟางแจกชาวบ้านที่เลี้ยงวัวคอกละ 5 ก้อน ให้วัวได้กินอาหารช่วงน้ำท่วม เพื่อประทังความเดือดร้อนแล้ว

นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม จึงขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ/ท้องถิ่น /ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 การเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณสายหลักและแม่น้ำสาขาในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองด้วย สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลผลิตทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย

2.ให้เตรียมพร้อมกำลังพลและเครื่องมือเครื่องจักรกลที่ใช้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติ เพื่อให้ความพร้อมในการช่วยเหลือประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

3.กรณีสิ่งสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจนประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ต้นไม้ล้มทับเส้นทางสัญจร เสาไฟฟ้าโค่น หรือระบบท่อประปาได้รับความเสียหาย ขอให้ประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ เข้าดำเนินการแก้ไขให้สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ

4.หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ ให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม ทราบโดยเร็ว ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-4251-1025 และรายงานสถานการณ์/การให้ความช่วยเหลือตลอด​ 24​ ชั่วโมง​