เมื่อเวลา 23.42น.วันที่ 13 ก.ย.67  ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม  เพื่อพิจารณาวาระคณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ต่อเนื่องเป็น วันที่2  

นายพริษฐ์  วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาชน เป็นคนอภิปรายสรุปของฝ่ายค้านว่า วาระนี้ไม่ใช่การแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ แต่เป็นการแถลงความคืบหน้าและแผนงานของรัฐบาลเดิมที่ได้ทำงานครบมาแล้ว 1 ปี เพราะถึงแม้นายกรัฐมนตรีอาจจะเปลี่ยนคน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนพรรค ถึงแม้รัฐมนตรีบางกระทรวงอาจจะเปลี่ยนชื่อ แต่หลายคนก็ไม่ได้เปลี่ยนนามสกุล  ในขณะที่องค์ประกอบโดยรวมของรัฐบาลก็ยังเป็นแบบเดิม มีเพียงการเปลี่ยนอะไหล่เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งก่อนที่เราจะเริ่มเคลิ้มกับนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา 2 วันที่ผ่านมา เราต้องย้อนไปดูก่อนว่ารัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ได้ทำตามคำพูดที่สวยหรู ได้สัญญาต่อรัฐสภาตอนแถลงนโยบายเมื่อ 1 ปีที่แล้วหรือไม่ เพราะวิธีคาดการณ์ที่ดีที่สุดในอนาคตคือการศึกษาอดีต ดังนั้น 3 ปีข้างหน้าภายใต้รัฐบาลน.ส.แพรทองธาร จะเป็นเช่นไร ตนคิดว่า 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา เป็นคำตอบได้ในเบื้องต้น

นายพริษฐ์ กล่าวว่า  หากจะประเมินนโยบายเศรษฐา  ระยะสั้น 5 เรื่องที่ประชาชนคาดหวังจะทำให้สำเร็จ 1 ปี ได้แก่ ดิจิตัลวอลเล็ต  ก็เป็นแค่ลมปากกลับไปกลับมา ซึ่งตลอด 1ปี ก็หมกมุ่นอยู่กับการกับการปัญหาจนไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไป กลับมา จากที่เคยบอกแจกสงกรานต์  จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถแจกได้แม้แต่บาทเดียว เรื่องปัญหาหนี้สิน เป็นมาตราการเดิมๆ เพิ่มเติมคืองานอีเวนต์  เรื่องพลังงาน เป็นโปรโมชั่นระยะสั้น ที่แปปเดียวหมดอายุ เรื่องท่องเที่ยว ก็ขยันผิดจุด ทำเยอะ แต่ยังไม่ตรงจุด เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ยึก ๆ ยัก ๆ เดินหน้าเป็นวงกลม ประชามติยังไม่เกิด  

“ผลงานรัฐบาลเศรษฐา ในมิตินโยบายระยะสั้น 5 ข้อ เปรียบเสมือนกับการนำพาประเทศไทยขึ้น “รถไฟเหาะ” ที่เหมือนจะเดินไปข้างหน้า แต่เดินแบบซ้ายที ขวาที ขึ้นๆ ลงๆ ตีลังกาไปตีลังกามา แต่สุดท้ายก็นำพาประเทศกลับมาอยู่ที่จุดเดิม 1ปีที่ผ่านมารัฐบาลเศรษฐา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถทำได้ตามคำพูดที่แถลงเอาไว้ต่อรัฐสภา แล้วอะไรจะเป็นรับประกันว่าในอีก 3 ปีข้างหน้ารัฐบาลของคุณแพทองธาร จะสามารถทำตามคำพูดสวยหรูที่ได้ให้ไว้กับรัฐสภาตลอด 2 วัน ที่ผ่านมา”นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า  ตนมีความกังวลใจต่อชุดนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ถ้านำของทั้ง 2 รัฐบาลเศรษฐา มาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่ารัฐบาลแพทองธาร มีปัญหาหลัก 3 ด้านคือ 1. คิดไม่ครบ มาตั้งแต่ต้นเลยทำให้กลับไปกลับมา บางเรื่องต้องยอมถอย  เช่น  นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต   ที่สุดท้ายต้องกลับลำแบบ 180 องศาในนโยบายเรือธง  ค่าแรงขั้นต่ำ  2. คิดไม่ออก เลยต้องเขียนกว้างๆ ไว้ก่อน  เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  สวัสดิการทุกช่วงวัย 3. คิดไม่ซื่อ โดยเอาประชาชนมาบังหน้า เช่น สถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาในนโยบายท่องเที่ยว  ที่ดูเหมือนไม่ได้ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะควรจะออกมายืนยันว่าจะตั้งในเมืองรองเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปทุกภูมิภาค แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไปตั้งอยู่เมืองใหญ่ ซึ่งมีการลือกันว่ากลุ่มทุนใหญ่กำลังแย่งชิงสัมปทานกันอยู่  เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า  ตนมีความกังวลเกี่ยวกับที่มาที่ไปและองค์ประกอบของ ครม.ที่จะเข้าไปผลักดันนโยบายดังกล่าว ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เยอะเกี่ยวกับองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสานต่อนโยบาย  “1 ครอบครัว 1ซอฟท์พาวเวอร์” มาเป็น “1ครอบครัว 1 ที่นั่งรัฐมนตรี” ซึ่งท้ายสุดไม่ว่ารัฐมนตรีจะเป็นลูกหลานใคร ญาติใคร แต่เชื่อว่ารัฐมนตรีท่านนั้นรู้ดี ว่าประชาชนจะประเมินท่านจากผลงานและความสามารถ หากถูกสั่งให้ทำนโยบายที่ไม่ได้ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ สุดท้ายคนที่ประชาชนจะลงโทษในคูหาเลือกตั้งจะสาปแช่ง จะถูกดำเนินคดีก็ไม่ใช่คนที่สั่งแต่คือตัวท่านเอง

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนความกังวลถึงองค์ประกอบของ ครม. 3 ข้อที่จะเป็นอุปสรรค ต่อรัฐบาลในการผลักดันนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นบทพิสูจน์ สำคัญต่อภาวะผู้นำ ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย คือ  1. ครม.เสี่ยงเป็นครม.ต่างคน ต่างอยู่ ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่ต้องอาศัย การประสานงานข้ามกระทรวงได้ 2. ครม.ชุดนี้ เสี่ยงเป็น ”ครม.ตรายาง” ที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างแท้จริง  จะเกิดวิกฤตในการบริหารราชการแผ่นดินจะตามมาอย่างแน่นอน 3.ครม.ชุดนี้เสี่ยงเป็น “ครม.ตัวประกัน”  ที่จะเจออุปสรรคในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เมื่อ 1 ปีที่แล้วพรรคเพื่อไทยตัดสินใจตัดขาดกับพรรคก้าวไกล เพื่อวิ่งเข้าหาเครือข่ายอำนาจเก่าและจับมือกันตั้งรัฐบาล จนไปอยู่ในสภาวะการเป็นตัวประกันในอุ้งมือเครือข่ายอำนาจเก่า

นายพริษฐ์ กล่าวว่า แม้ 1 ปีที่ผ่านมาท่านได้ทิ้ง วาระทางการเมือง เอาใจเครือข่ายอำนาจเก่าจนต้องสูญเสียความศรัทธาและความนิยม จากประชาชนที่เก็บสะสมมาตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ท้ายสุดท่านก็หนีไม่พ้นการถูกระบบและสถาบันทางการเมืองที่ถูกออกแบบโดยเครือข่ายอำนาจเก่า หันกลับมาทิ่มแทง จนนายกฯคนก่อน ของพรรคเพื่อไทยก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งและนายกฯคนใหม่ ก็ถูกล้อมรอบด้วยนิติสงครามอันวิปริต จากทุกทิศ ซึ่งเราไม่อยากจะเห็นในการเมืองไทย

“วันนี้รัฐบาลและนายกฯ กำลังยืนอยู่บนทาง 2 แพร่ง หากท่านยังเลือกวิ่งเข้าหาเครือข่ายอำนาจเดิม โดยเอาอนาคตของประชาชนทุกคนไปแลก ก็อย่าหวังว่าจะได้รับความเห็นใจจากประชาชน และแม้เครือข่ายอำนาจเก่าอาจจะยังปราณีท่านไว้ชั่วคราว เพราะหวังจะใช้พวกท่านเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างภัยคุกคามใหม่อย่างพวกตนเอง ท้ายที่สุดแล้ว หากเขาทำสำเร็จ ตนเองเชื่อว่าเขาก็อาจจะไม่เก็บภัยคุกคามเก่าอย่างพวกท่านไว้ด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลเลือกหันหลังให้กับอำนาจเก่า แล้ววิ่งเข้าหาประชาชน มาร่วมมือกับพรรคประชาชนในบางวาระ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยปกติ ให้อำนาจจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจจากการแต่งตั้ง เชื่อว่าแม้จะเห็นต่างกัน จะสามารถฝ่าฟันกับดักและนิติสงครามของอำนาจเก่าไปได้อย่างแน่นอน” นายพริษฐ์  กล่าวว่า

นายพริษฐ์ ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าเวลาของท่านในการตัดสินใจมีอยู่ไม่มาก ความอดทนของพี่น้องประชาชนมีขีดจำกัด เชื่อว่าอีก 3 ปีหลังจากนี้ ท่านจะต้องเผชิญกับหลายสถานการณ์ที่ท่านต้องตัดสินใจแทนพวกเราทุกคน ว่าท่านจะทำให้อนาคตข้างหน้า เป็นอนาคตที่อำนาจลงตัว แต่ประชาชนลงเหว หรือเป็นอนาคตที่อำนาจเปลี่ยนผ่าน และประเทศชาติเปลี่ยนแปลง ตนเองเพียงแต่หวังว่าท่านจะตัดสินใจทุกครั้ง โดยไม่ยอมให้ประโยชน์ส่วนตัวของใคร มาอยู่เหนือประโยชน์ส่วนรวมของของประเทศชาติและประชาชนทุกคน.