บนถนนพุทธมณฑลสาย 5 ภายในสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่ “หอภาพยนตร์” ทำหน้าที่เป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่รวบรวมข้อมูลและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของวงการภาพยนตร์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีความเชื่อและความศรัทธา เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ไว้เป็นมรดกภาพยนตร์และบันทึกความทรงจำของประวัติศาสตร์ ได้ร่วมมือกันผ่านกระบวนการต่อสู้มากมายกว่าจะมาถึงวันนี้ จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศด้านประสบการณ์ มาตรฐาน และความสามารถ หอภาพยนตร์ของไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่สมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ FIAF Congress 2024 เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย อันเป็นหมุดหมายสำคัญในวาระฉลอง 40 ปีของการต่อตั้ง เป็นความภาคภูมิใจขององค์กรฯ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก ต่างให้การยอมรับหอภาพยนตร์ของไทยว่าทำงานด้านอนุรักษ์ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ” ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) บอกเล่า

บทบาทและหน้าที่หลักของหอภาพยนตร์ฯ ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา คือการทำหน้าที่อนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหว โดยให้ความสำคัญกับผลงานที่สร้างโดยคนไทยหรือเกี่ยวข้องกับประเทศไทย และไม่เฉพาะภาพยนตร์ที่ฉายในโรงเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพยนตร์สารคดี หนังข่าวต่าง ๆ หนังที่สร้างจากหน่วยงาน หรือหนังบ้าน คือหนังที่ถ่ายกันเองในครอบครัว เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ในยุคแรก ๆ หอภาพยนตร์จะเก็บทุกอย่างที่เป็นฟิล์มเพราะเป็นวัตถุถ่ายทำดั้งเดิมและมีโอกาสเสื่อมสลายง่าย โดยเน้นการเก็บงานที่เป็นต้นฉบับ แต่เมื่อสื่อเปลี่ยนรูปแบบในยุคต่อมาเป็นเทป และเป็นไฟล์ดิจิทัล ฮาร์ดดิสก์ ฮาร์ดไดรฟ์ ต่าง ๆ ก็ยังคงเดินหน้าทำงานเก็บรักษาและใช้หนังเหล่านี้ในกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับประชาชน

เมื่อพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์หลายคนมองที่ปลายทาง แต่งานของหอภาพยนตร์เป็นต้นธารของซอฟต์พาวเวอร์ เพราะงานของหอภาพยนตร์มีสาระอยู่ที่การอนุรักษ์ภาพยนตร์ และการนำภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่มาเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ เสริมสร้างความหลากหลายของจินตนาการและรสนิยม โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน เช่น เด็กบางคนอาจมีประสบการณ์การดูหนังครั้งแรกที่นี่ ก่อนเข้าดูหนังจึงมีการสอนเรื่องมารยาทของการดูหนังร่วมกับคนอื่น รวมไปถึงมีกิจกรรมชวนพูดคุยหลังดูหนัง เพื่อรับฟังสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากหนัง โดยไม่มุ่งเน้นการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้ชมรุ่นเยาว์รู้จักคิดไตร่ตรองกับสิ่งที่เห็นอันเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่แข็งแรง และเป็นกลไกลสำคัญซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถต่อยอดในเรื่องเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในมุมผู้สร้างและผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งสำหรับกิจกรรม “โรงหนังโรงเรียน” นี้ได้รับความนิยมและมีคิวเต็มและยาวไปถึงอีกสองเดือนข้างหน้าแล้ว”

ภายในอาคารมีการจัดเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์จำลอง แสดงประวัติศาสตร์และขบวนการผลิตภาพยนตร์ไทย อุปกรณ์ประกอบฉาก การจัดแสดงหุ่นบุคคลสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทยทั้งดาราและผู้สร้างภาพยนตร์และหนึ่งในนั้นแน่นอนว่าจะต้องมีหุ่นของ “มิตร ชัยบัญชา” นักแสดงชื่อดังในอดีต โต๊ะทำงานของ “ปยุต เงากระจ่าง” ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกของไทย คือ เรื่องสุดสาคร รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย สถานที่รวบรวมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย จัดแสดงนิทรรศการ 3 เรื่อง ได้แก่ นิทรรศการหนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย หอเกียรติยศ และนิทรรศการขบวนการผลิตภาพยนตร์เปิดให้เข้าชมฟรี วันอังคาร-ศุกร์ 4 รอบ คือ 11.00 น., 14.00 น., 15.00 น., 16.00 น.วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ 6 รอบ คือ 10.00 น. 11.00 น. 13.00 น. 14.00 น. 15.00 น. และ 16.00 น.

ในส่วนห้องสมุด แหล่งค้นคว้าทางด้านภาพยนตร์ ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ วารสาร นิตยสาร บทความวิทยานิพนธ์ เอกสารข้อมูลทางวิชาการ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ข่าว สารคดี และภาพยนตร์ไทยเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมไว้นับหมื่นรายการในระบบ VOD เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 09.30-17.30 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

เมืองมายา” เมืองจำลองสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์โลก ผ่านนิทรรศการกึ่งถาวรกลางแจ้ง ชื่นชมกับความสวยงามและสมจริงของฉากเบื้องหน้า รวมทั้งได้เรียนรู้และสัมผัสเบื้องหลังงานสร้างฉากซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานสร้างภาพยนตร์ ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ เช่น การจำลองฉายหนังขึ้นจอครั้งแรกของโลกที่กร็องด์ คาเฟ่ และซาลอน อินเดียน, การจัดฉายหนังใน นิคเกิ้ลโลเดี้ยน โรงหนังแห่งแรกของโลก, ดูหนังถ้ำมอง ในร้านถ้ำมอง Kinetoscope Polar และประติมากรรมบุคคลสำคัญในภาพยนตร์ เป็นต้น เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น.

สำหรับ “โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา” เป็นโรงภาพยนตร์ขนาด 121 ที่นั่ง จัดฉายภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์สะสมไว้และที่จัดหามาจากทั่วโลก เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 13.00 น. และ 15.30 น. ไม่เสียค่าเข้าชม ยกเว้นกิจกรรมแต่งกายถ่ายภาพในฉากจำลองการแสดง มีค่าร่วมกิจกรรมครั้งละ 100 บาท

ประชาชนทั่วไปที่สนใจและอยากเข้าไปเที่ยวหรือเยี่ยมชมหอภาพยนตร์ อยากดูหนัง อยากร่วมกิจกรรมหรือใช้บริการด้านอื่น ๆ ดูที่ www.fapot.or.th หรือ FB : www.facebook.com/pages/หอภาพยนตร์-องค์การมหาชน.