เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่กองบังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 44 พล.ท.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผอ.ศปป.5กอ.รมน. พ.อ.สุทธิพงษ์ พืชมงคล ผอ.สบพ.ศปป.5กอ.รมน. พ.อ.กิรติ คุณาวงศ์ เสธ.สนก.4นทพ. พ.อ.กฤศณัฎฐ์ จันทร รองผอ. ศปนย.จชต. พ.อ บรรณกร วงษ์สุวรรณ ผบ.นพค.44สนภ.4นทพ. ร่วมแถลงผลการปฏิบัติงานภายในพื้นที่อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี

พ.อ.กิรติ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา มีความรับผิดชอบในพื้นที่ 14 จังหวัด ภาคใต้ ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงานและดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยาของประเทศในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่ที่กำหนด ในส่วนการดำเนินการพัฒนาประเทศ ได้ประสานความร่วมมือพร้อมบูรณาการร่วมกับส่วนราชการตั้งแต่ระดับจังหวัด จนถึงระดับผู้นำท้องถิ่น ตามแผนงานหลักทั้ง 8 ประกอบด้วย 1.แผนงานก่อสร้างเส้นทางคมนาคม 2.แผนงานส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ 3.แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ 4.แผนงานพัฒนาชุมชนและสาธารณูปการ 5.แผนงานสาธารณสุข 6.แผนงานการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม 7.แผนงานการประชาสัมพันธ์และจิตวิทยา 8.แผนงานสังคมสงเคราะห์

ด้าน พ.อ.บรรณกร กล่าวถึง บทบาทและหน้าที่ของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ว่า เราปฏิบัติตามแผนงานทั้ง 8 แต่จะเน้นย้ำในส่วนของแผนงานส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเข้าหาผู้คนภายในชุมชนและใช้แผนยุทธศาสตร์ 4 แผนคือ 1.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การแก้ปัญหาคนในชุมชนพื้นให้เกื้อกูลกำลังต่อการผลิตกำลังป้องกันประเทศ 3.แก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วนของชาติ และ 4.การพัฒนาองค์กร สำหรับวิธีการที่ใช้ในการเข้าหาชุมชนใช้แผนยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3 ซึ่งจากที่ใช้แผนการพัฒนาเกษตร และสหกรณ์นั้นจะอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมอาชีพ และส่งเสริมการทำเกษตรให้กับผู้ที่มีความสนใจ ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนการเข้าไปในพื้นที่ชุมชนและการทำความเข้าใจกับประชาชนนั้น พ.อ.บรรณกร กล่าวว่า เราใช้ศาสตร์พระราชา ซึ่งชี้แนะไว้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยต้องเข้าใจบริบทขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ และใช้การปรับตัวเข้าหากับผู้คนในชุมชน ความเข้าใจไม่สามารถทำได้ในวันเดียว แต่หน่วยของตนทำความเข้าใจกับผู้คนมาตั้งแต่หน่วยจัดตั้งขึ้นมาในปี 2548 ซึ่งอยู่กับพื้นที่มานับ 20 ปีแล้ว จึงทำให้เกิดการไว้วางใจขึ้น ทั้งมองว่าทุกคนถือเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อนที่ต้องช่วยเหลือ และต้องทำให้พวกเขารู้ว่า “เราไม่ใช่ศัตรูที่จะมาทำร้ายแต่เราคือคนที่อาศัยภายในชุมชนเดียวกัน และเป็นผู้ที่จะร่วมพัฒนาชุมชนไปด้วยกันจึงทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนในชุมชนได้”

พ.อ.กิรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงเคล็ดลับการครองใจประชาชนในพื้นที่ว่า ตนใช้หลักการทำงาน 9 ข้อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานกับผู้คนในพื้นที่ คือ 1.อย่าดูหมิ่นน้ำใจ 2.อย่าแสดงความโลภหรือแสวงหาผลกำไร 3.อย่าพัฒนาเพื่อรับหน้านายให้พัฒนาเพื่อประชาชน 4.อย่าแสดงอำนาจต่อบุคคลในท้องถิ่นจนขาดความร่วมมือกับบุคคลในท้องที่ 5.จงยอมรับและอยู่ร่วมกับขนบธรรมเนียมในท้องที่ 6.จงสร้างสรรค์ในสิ่งที่เขาเรียกร้อง และปฏิเสธให้ไพเราะในสิ่งที่นอกเหนือหน้าที่ 7.จงเข้าหาบุคคลที่ประชาชนเชื่อถือ 8.จงฟังความคิดเห็นของประชาชน และสุดท้าย 9.จงทำอย่างที่พูด ด้วยความจริงใจต่อราษฎรข้อนี้ถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะหากมีความเข้าใจเราจะสามารถเข้าถึง ในความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ ยังมีการแสดงพื้นเมืองในชุด “ปักษ์ใต้บ้านเรา” พร้อมเยี่ยมชมกลุ่มอาชีพในโครงการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน ที่หน่วย นพค. 44ได้ให้การสนับสนุน จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกล้วย ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์, กลุ่มขนมโรตีกรอบ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง, กลุ่มทอผ้าชาววัง ต.ยาบี อ.หนองจิก จว.ป.น. และกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ นทพ.

นอกจากนี้ ยังพาเข้าชมศูนย์การเรียนรู้เด็กลูกแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นจุดที่ไว้ใช้สำหรับพักคอยและเรียนหนังสือโดยเรียนทั้งภาษาพม่า และภาษาไทย สำหรับบุตรของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ชุมชน ส่วนเหตุผลที่ตั้งภายในวัดนั้น เพราะก่อนหน้าเคยมีการเช่าบ้าน แต่เนื่องจากมีเด็กมารวมตัวกันหลายคน และส่งเสียงดัง จึงทำให้เกิดการรบกวนชาวบ้าน ในบริเวณดังกล่าวตัวเแทนหมู่บ้านจึงได้คิด และจัดหาสถานที่ ซึ่งใช้วัดเนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเหมือนกับคนในชุมชนคนอื่นๆจึงได้ ทำเรื่องขอไปยังสำนักพุทธ และเจ้าคณะจังหวัดจนได้รับการตกลง และให้ใช้สถานที่ภายในวัดเป็นจุดพักคอย และเรียนหนังสือให้กับบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่.