เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 13 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162  ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2

โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเขียนมา 10 ข้อ ว่า ไม่มีเรื่องการศึกษาเลย แต่ต้องขอชื่นชมถ้อยคำหรูหราที่ใส่ไว้ในนโยบาย ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เน้นทักษะใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพ เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ ถ้อยคำเหล่านี้จะมีความหมาย ถ้าเข้าใจความสำคัญของการศึกษาอย่างลึกซึ้ง

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ทำไมบริษัทชั้นนำที่ผลิตสินค้าสำหรับโลกแห่งอนาคตต่างๆ จึงตัดสินใจลงทุนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แทนที่จะเป็นประเทศไทย โดยยกดัชนีวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ พบว่าจุดอ่อนสำคัญ คือเรื่องประสิทธิภาพของคน หรือแรงงาน ทั้งปกขาวและปกน้ำเงิน ซึ่งมาจากคุณภาพการศึกษาของเรา ขณะนี้การศึกษาของประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 54 จาก 67 ประเทศ จากที่ไอเอ็มดีสำรวจและการสอบ PISA ในรอบ 10 ปี ก็มีผลต่ำลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน รวมถึงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้วย

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ปัญหานี้เราได้ยินกันมาทุกปี แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วรัฐบาลนี้ควรจะทำอย่างไรต่อไป ประการที่หนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ดำเนินการแก้ไขกันเองอย่างที่ทำกันมา การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มากเกี่ยวกับทุกคน และอนาคตของชาติ เพราะโอกาสที่จะยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชน ล้วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น การดำเนินการจะต้องทำแบบบูรณาการ วางทิศทางแก้กฎหมาย จัดระบบงบประมาณ บุคลากร และการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ ประการที่สอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการระดับสูง ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วยตนเอง

“ดิฉันอยากเห็นท่านนายกรัฐมนตรี สร้างประวัติศาสตร์ เรื่องที่นายกฯ คนก่อนๆ ไม่เคยเห็นความสำคัญ นั่นคือการปฏิรูปการศึกษาไทย อยากให้ดูบทเรียนในประเทศภูมิภาคนี้ ที่ล้วนใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น ถ้าต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่การศึกษาพัฒนาคุณภาพของคน ให้มีศักยภาพสูง แข่งขันกับทั่วโลกได้ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา และประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ นี่คือทางรอดของประเทศไทย” น.ส.นันทนา กล่าว