คนเล็กเปลี่ยนโลก’ นี่คือคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในตัวของทุกคน ตั้งแต่เด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ทั่วไป การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่มุ่งมั่นและสม่ำเสมอนั้น สามารถสร้างผลกระทบอันกว้างขวางต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน ดังนั้น การร่วมมือร่วมใจกันของคนตัวเล็กๆ ในการเริ่มลงมือทำเพื่อเปลี่ยนวิฤตอันท้าทาย ให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น จึงนับว่า เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้การสนับสนุน

ดังที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ตอกย้ำแนวคิดผ่านการจัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 และ พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ภายใต้แนวคิดคนเล็กเปลี่ยนโลก’ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน กว่า 7,800 คนทั่วประเทศที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืนได้จากการมุ่งมั่นทุ่มเทดูแล รักษา ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่า พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13

สำหรับพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่พร้อมรับเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด อันประกอบด้วยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 32 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล 22 รางวัล และ ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก 10 รางวัล

ส่วนพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 โดยสถาบันลูกโลกสีเขียว มีผู้ได้รับรางวัล 38 ผลงาน จาก 5 ประเภทผลงาน คือ ประเภทชุมชน ประเภทบุคคล ประเภทกลุ่มเยาวชน ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน และประเภทงานเขียน

การจัดงานในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมให้หันมาใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นร่วมกัน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินงานการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันลูกโลกสีเขียวมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคลต้นแบบด้านการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

“ปตท. ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การจัดงานในปีนี้เป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายผู้ได้รับรางวัลทั้งสองรางวัล มีโอกาสได้มาพบปะ ร่วมแสดงความยินดี แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้ สร้างภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง สร้างผลลัพธ์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคมไทยในวงกว้าง รวมพลังทำให้โลกใบนี้น่าอยู่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

ทั้งนี้โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 นี้ ถือเป็นการสานต่อพระราชดำริในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ด้านจุดเด่นของโครงการดังกล่าว คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นชุมชน วัด โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลทั่วไป สามารถเข้าร่วมกิจกรรมและส่งผลงานเข้าประกวดได้

พร้อมเน้นการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอย่างหลากหลาย โดยไม่จำกัดเพียงการปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน แต่ยังรวมถึงการนำหญ้าแฝกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ ด้วยการจัดกิจกรรมอบรมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าแฝกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายผู้ที่สนใจหญ้าแฝก: เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝกอีกด้วย