ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา นำคณะผู้บริหารเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมการประชุมสภาเทศบาล สมัยสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2567 พิจารณาแนวทางการพัฒนาพื้นที่เขตเทศบาล และอนุมัติงบประมาณป้องกันน้ำท่วมพิจารณาข้อราชการ ในวาระการประชุมดังกล่าว มีการนำเสนอญัตติเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และมีการขออนุมัติสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ในเขตเทศบาล และการขออนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการป้องน้ำท่วม ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.สมทรง ได้มอบหมายให้คณะรองนายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา สมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 4 เขต นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการวางแนวป้องกันน้ำท่วม 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณคลองมหาชัย ตลาดหัวรอ จุดที่ 2 บริเวณคันกั้นน้ำ หน้าวัดเมรุราชิการรามวรวิหาร และจุดที่ 3 วัดศาลาปูนวรวิหาร

ว่าที่ ร.ต.สมทรง กล่าวว่า การประชุมสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายที่จะใช้สนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการอนุมัติงบประมาณในการดูแล ป้องกันและเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยน้ำท่วม และในการป้องกันภัยน้ำท่วมภายในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่เกาะเมือง โดยทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลกว่า 20,000 หลังคาเรือน ไว้ที่บริเวณวัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา มีการเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม โดยได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่และตรวจสอบสถานีสูบน้ำรอบเกาะเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองเพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมากโดยการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และคลองเมือง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยไม่มากนัก ขณะที่แผนป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว มองว่าหากดำเนินการก่อสร้างเส้นทางระบายน้ำสายใหม่ ภายใต้โครงการเส้นเลือดใหม่เจ้าพระยา 2 และป่าสัก 2 จะช่วยสร้างทางระบายน้ำลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น ลดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซ้อนให้กับพื้นที่ต่อไป