สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวถึงการที่นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ ให้คำมั่นระหว่างการเยือนยูเครนครั้งล่าสุด ว่าจะเร่งประสานให้มีการอนุญาตเพิ่มเติม เพื่อให้กองทัพยูเครนใช้อาวุธโจมตีที่มีพิสัยทำการระยะไกล ทั้งของสหรัฐและพันธมิตรได้มากขึ้น “จะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานของสงครามครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ”


ปูตินขยายความว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะหมายความว่า สมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งรวมถึงสหรัฐและหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) “ทำสงครามโดยตรงกับรัสเซีย” และรัฐบาลมอสโกจะตอบโต้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของภัยคุกคาม


ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียออกแถลงการณ์ ว่าปฏิบัติการโต้กลับที่ภูมิภาคเคิร์สก์ ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งมีพรมแดนติดกับภาคตะวันออกของยูเครน สามารถยึดฐานประจำการคืนจากอีกฝ่ายได้แล้ว 10 แห่ง นับตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพยูเครนเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีข้ามแดน


ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า กองทัพรัสเซียกำลังปฏิบัติการโจมตีโต้กลับครั้งใหญ่จริง แต่ยังคงยืนยันว่า การสู้รบที่ภูมิภาคเคิร์สก์ “เป็นไปตามแผนการของยูเครน”


อย่างไรก็ตาม ปูตินกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ว่าการที่ยูเครนส่ง “หน่วยรบที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ” เข้ามาปฏิบัติการในภูมิภาคเคิร์สก์ เท่ากับเป็น “การเปิดช่องโหว่” ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน หรือเป็นการทิ้งพื้นที่สำคัญทางตะวันออก ซึ่งกลายเป็น “การสร้างโอกาส” ให้รัสเซียสามารถรุกคืบพื้นที่ดังกล่าวได้มากขึ้นและเร็วขึ้น.

เครดิตภาพ : AFP