เมื่อเวลา 18.13 น. วันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ว่า จากการรับฟังเห็นว่ามีข้อซักถามที่เป็นประเด็นสำคัญ 2 เรื่องว่า 1. ทำไมไม่จัดเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นนโยบายเร่งด่วน 2. ความไม่ชัดเจนของนโยบาย ว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบไหนอย่างไร

และจากการฟัง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่พูดถึงและเปรียบเทียบการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบาย น.ส.ยิ่งลักษณ์สมัยนั้นที่ระบุว่ามีรายละเอียดกำหนดจำนวนเงิน วัน เวลา สถานที่ ว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ ซึ่งตนก็มีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายขณะนั้นซึ่งเป็นการจัดทำนโยบายตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติตามมาตรา 75 มาตรา 76 ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า จะทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ดังนั้นการทำนโยบายขณะนั้นจึงมีความชัดเจนว่าจะได้ 300 บาท เมื่อไหร่ ปีแรกทำอะไร แต่กับรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 บทบัญญัติที่กล่าวมานั้นได้ยกเลิกไปแล้ว มีเพียงระบุว่า การจัดทำนโยบายตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องแถลงแหล่งที่มาของเงินรายได้ ว่าจะเอามาจากไหน และเอากรอบยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดไว้ ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ก็เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นการแถลงนโยบายของรัฐบาลนี้ ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี่เป็นความรู้ว่าทำไมถึงทำเช่นนี้

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับคำถามว่าทำไมไม่กำหนดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน ขอชี้แจง โดยให้ย้อนไปที่สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีการวิจารณ์กันว่านโยบายยืดเยื้อไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร โดยเขียนว่า “จะแก้ปัญหาความเห็นต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยยึดรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติ” แต่มาถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธารเขียนไว้สั้นๆ ว่าจะเร่งรัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการประชาธิปไตย จริงอยู่ว่าไม่ได้เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ตนก็พอใจ ว่า 1. มีการเร่งรัด 2. ระบุว่า โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 จะเห็นว่า สมัยนายเศรษฐา ยังไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดจะตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาได้โดยวิธีการใด เพราะขณะนั้นมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2564 วินิจฉัยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับปี 2560 เกิดจากการทำประชามติของประชาชน ดังนั้นการจะทำฉบับใหม่อีก ต้องถามประชาชนด้วยว่า จะจัดทำฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าจัดทำ ก็ต้องถามประชาชนอีกครั้งว่า จะเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลนายเศรษฐาเห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าท้ายสุดจะจัดทำอย่างไร โดยเฉพาะมีการเถียงกันมากว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง ตนจึงได้สอบถามประธานรัฐสภา โดยเสนอเป็นร่างเข้ามา ฝ่ายกฎหมายสภาบอกเป็นการทำฉบับใหม่ ดังนั้นตนจึงถามศาลรัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่ายังไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่รับวินิจฉัย ดังนั้นนายเศรษฐา จึงใช้ความรอบคอบ โดยตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานกรรมการศึกษา และจนตอนนี้ได้ข้อสรุปว่า 1. ทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ถามว่า สมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 ถามหลังการแก้มาตรา 256 มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้ว และ ครั้งที่ 3 ถามประชาชนว่าจะเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ดังนั้นโดยเหตุนี้ รัฐบาลเลยเขียนไว้สั้นๆ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปอย่างไร ซึ่งเราคิดว่า จะเดินตามนี้ แต่จะเดินตามนี้ได้ รัฐสภาต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และร่วมกันผลักดัน นอกจากนี้ยังต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเราทราบดีว่า ที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ส่วนตัวดูแล้วว่ามีบทบัญญัติหลายมาตราที่เป็นปัญหา สามารถตีความเกินเลยไปจากปกติที่ควรจะเป็น ที่เห็นชัด เช่น มาตรา 160 (4) (5) คำว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ถามว่า วิญญูชนจะรู้ว่าอะไรคือประจักษ์ หรือคือการไม่เคยทำผิดมาเลยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หรืออะไรคือพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเราทราบดีว่า ท้ายสุดจะเอาตั้งแต่อายุเท่าไหร่ก็ไม่ได้กำหนด จะเอาตั้งแต่แรกเกิด หรือ 7 ขวบ แค่เตะฟุตบอลโกงเขา  เป็นต้น ก็ไม่มีข้อจำกัด

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ เคยมาคุยกับเรา กับเลขาธิการพรรค และประธานวิป ว่าระหว่างรอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะแก้ไขรายมาตรา บางประเด็นที่คิดว่า มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินไม่ให้เกิดปัญหาการตีความล้นเกิน ซึ่งเราคิดและเห็นด้วยว่า ควรทำ แต่ที่ดีที่สุดคือให้ สส. พรรคการเมืองทั้งหลายช่วยกันทำ ซึ่งทางพรรคประชาชนก็เสนอร่างมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เสนอบรรจุ ส่วนเราก็ยกร่างมาพอสมควรว่า ควรแก้อะไรบ้าง

“เช่น การวินิจฉัยให้คนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น สส.,  สว. หรือรัฐมนตรี การใช้เสียงข้างมากเท่านั้นจะถือว่ายุติธรรมหรือไม่ เช่น 1 เสียงก็สามารถเอานายกฯ ออกจากตำแหน่งได้ ในอดีตก็เคยมีเสียงเอกฉันท์ หรืออย่างน้อยเสียง 2 ใน 3 หรือ 4 ใน 5 ดังนั้นเห็นด้วยว่า แก้รัฐธรรมนูญรายประเด็นพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กันไป จะทำให้บ้านเมืองเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” นายชูศักดิ์ กล่าว   

โดยสรุปเรามีเจตนาแน่วแน่ว่าจะเร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเราทราบดีว่าต้องแก้กฎหมายประชามติซึ่งผ่านสภาแล้ว อยู่ที่วุฒิสภา หลังเสร็จก็ประกาศใช้ หลังมีกฎหมายประชามติ ก็จะเริ่มถามประชาชนว่า สมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เป็นการเริ่มนับหนึ่ง รัฐธรรมนูญประชาชนตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศ ดังนั้นเรายินดีเร่งรัด จัดทำ ให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้