นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (สศท.) เปิดเผยว่า สศท.ได้เตรียมจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” มหกรรมจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชั้นบรมครู และจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ศิลปหัตถกรรมไทยทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเสริมสร้างอาชีพให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การพัฒนาหัตถศิลป์ไทยให้ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังช่วยสืบสานงานศิลปหัตกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย รักษาภูมิปัญญาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีอัตลักษณ์ ที่สะท้อนความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานไม่ให้สูญหาย และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาท ช่างศิลปหัตถกรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาคู่แผ่นดิน รวมทั้งปลุกตำนาน และฟื้นคืนชีวิต ภูมิปัญญาคุณค่างานหัตถศิลป์ไทยชั้นบรมครูให้กับคนรุ่นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนภูมิปัญญามรดกศิลป์มรดกชาติ สู่การเป็น Craft Power สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ในวันที่ 18-22 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำหรับกิจกรรมภายในงานปีนี้ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่หนึ่ง การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในการวางรากฐานสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมบนผืนแผ่นดิน ส่งเสริมอาชีพด้วยภูมิปัญญา ภายใต้แนวคิด “คือพระหัตถ์สร้างงาน รากฐานงานหัตถศิลป์ไทย” รวมถึงจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รวมไปถึงส่วนสาธิต อาทิ ทอผ้าจก, จักสานย่านลิเภา, จักสานไม้ไผ่ลายขิด ฯลฯ โดยสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

นิทรรศการส่วนไฮไลต์ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ผลงานหัตถศิลป์ล้ำค่าของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ล่วงลับกว่า 50 ผลงาน ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ทั้งที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย เนื่องจากเหลือช่างทำน้อยราย ที่นับวันจะลดลง อนาคตอาจเหลือเพียงตำนาน อาทิ ขันลงหิน-บ้านบุ ครูเมตตา เสลานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552, มีดเหล็กลาย ครูพชร พงศกรรังศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559, หัตถกรรมทองเหลืองสาน ครูวนิตย์ ธรรมประทีป ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2553 เป็นต้น

รวมถึงสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมชิ้นเอก ถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการกว่าจะมาเป็นงานหัตถกรรม โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า 25 ราย อาทิ เครื่องประดับมุกโบราณ, งานต้องลายปานซอย (งานฉลุลายโลหะแบบศิลปะไทใหญ่), ลายรดน้ำ, เครื่องเขิน, พวงมะโหตร, แกะสลักไม้, ว่าวเบอร์ฮามัส ฯลฯ และนิทรรศการ “ตำนานบทใหม่ของช่างฝีมือคนไทย” เชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาทศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2567