เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 ระดมสรรพกำลังและยุทโธปกรณ์ เสริมทัพ เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งสนับสนุน หลังนำรถเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

ผบ.ทบ. กล่าวต่อว่า โดยสถานการณ์อุทกภัย ในห้วงวันที่ 16 ก.ค.-12 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา มีร่องมรสุมและพายุดีเปรสชัน ยางิ พาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่อง และฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และตาก ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันผลกระทบจากพายุยางิ ห้วง 7-8 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนัก

ผบ.ทบ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในพื้นที่ประเทศเมียนมา รวมทั้งพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาในประเทศเมียนมา ไหลลงมาสู่แม่น้ำสายปริมาณมาก จนทำให้น้ำล้นตลิ่ง ประกอบกับพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ฝนตกหนักปริมาณมากกว่า 200 มิลลิเมตร ในห้วงวันที่ 9-10 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา น้ำทั้งสองส่วนนี้ เป็นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ อ.แม่สาย ซึ่งแม่น้ำสายจะไหลไปรวมกับแม่น้ำรวก ที่ อ.เชียงแสน และไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป แต่ในปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับที่สูง พื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังคือ พื้นที่ อ.เชียงแสน มีโอกาสน้ำลันตลิ่งท่วมฉับพลันได้ อีกทั้งยังมีน้ำอีกส่วนที่มาจาก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันเกิดเหตุดินโคลนถล่ม เนื่องจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน รวมทั้งมีปริมาณน้ำมาจากประเทศเมียนมา ไหลมาสู่แม่น้ำกก ผ่าน อ.เมืองเชียงราย ส่งผลให้บริเวณสองฝั่งตลิ่งริมแม่น้ำกก เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลท่วมบ้านเรือนประชาชน และสถานที่ต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่เฝ้าระวังต่อไป คือ อ.เวียงเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำกกกไหลผ่าน ปลายทางสู่แม่น้ำโขงต่อไป

ผบ.ทบ. กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก โดย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบก ในแต่พื้นที่ ได้จัดกำลังพล ร่วมกับส่วนราชการและจิตอาสาในพื้นที่ ในการเข้าให้ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการขนย้ายสิ่งของ, เคลื่อนย้ายประชาชนออกมายังที่ปลอดภัย, มอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค และน้ำดื่ม, กรอกกระสอบทราย ทำแนวกันน้ำ, จัดรถครัวสนาม เข้าไปประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชน และทำความสะอาด ฟื้นฟูบ้านเรือนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย.