นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เอ็ตด้า ได้เข้าไปร่วมในการออกมาตรการในการควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติ โดยปลัดกระทรวงดีอี ได้เป็นประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ร่วมกับ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะออกร่างประกาศ อี มาร์เก็ตเพลส ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกับสินค้าของผู้ประกอบการไทย คาดว่า จะนำร่างประกาศดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในไม่เกินต้นเดือน ต.ค. 67 นี้

“ร่างประกาศดังกล่าว เพื่อกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยง กำหนดรายชื่อแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เข้าข่ายความเสี่ยง ว่ามีบริษัทใดบ้าง จากนั้นต้องกำหนดมาตรฐานของสินค้าให้แพลตฟอร์มต่างชาติปฏิบัติตามเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่ต้องมีทั้งมาตรฐาน มอก. ของกระทรวงอุตสาหกรรม และ อย. ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจสอบได้ และผู้ใช้บริการต้องสามารถร้องเรียนได้ ตลอดจนประเด็นการจดทะเบียนในประเทศไทย ว่าต้องมีการกำหนดหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการต้องไม่สุ่มเสี่ยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศ”

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการประกาศบังคับใช้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ จากนั้นจึงเสนอเข้าอนุกรรมการด้านกฎหมาย และเสนอให้บอร์ด เพื่ออนุมัติเห็นชอบ โดยหลังจากประกาศต้องมีระยะเวลากี่วันถึงจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้แพลตฟอร์มมีเวลาในการเตรียมระบบและตรวจสอบเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศไทย

นอกจากนี้ เอ็ตด้าและสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเดิมการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดของ กขค.นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก่อน ทว่าแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ข้อมูลอยู่ต่างประเทศ กขค.จึงไม่มีอำนาจในการขอข้อมูลจากต่างประเทศ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และครม.มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากยังมีความคิดเห็นต่างกันอยู่ ระหว่างคนร่างกฎหมายและหน่วยงานที่ต้องการบังคับใช้ในประเด็นควรกำกับดูแลหรือไม่ และหากกำกับดูแลจะเป็นการปิดกั้นเทคโนโลยีด้วยหรือไม่