เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานส่งเครื่องบิน C-130 บรรทุกสิ่งของ กำลังพล ร่วมกับหน่วยในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย ว่า กองทัพอากาศได้ประชุมเตรียมความช่วยเหลือประชาชนภาคเหนือ โดยจัดตั้งศูนย์ ฝูงบิน 416  กองบิน 41 จ.เชียงราย ซึ่งเป็นไปตามแผนของกองทัพอากาศ ที่วางไว้ล่วงหน้า ช่วยเหลือภัยพิบัติเกิดจากธรรมชาติ 

เมื่อถามถึงปริมาณน้ำเท่าปี 2554 หรือไม่นั้น พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า  ตอนนี้ได้มีการวิเคราะห์ต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ มวลน้ำน้อยกว่าปี 2554 แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าพายุจะมาอีกกี่ลูก และปัจจัยที่ยังไม่นำมาคิด คือสิ่งปลูกสร้างที่อาจจะขวางทางน้ำ ซึ่งสภาพเหล่านี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแตกต่างไปจากปี 2554 อย่างไร จึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ปริมาณน้ำถึงจะน้อยกว่าปี 2554 น้ำจะท่วมน้อยกว่า รวมถึงอาจจะมีน้ำขังสูง อันตรายเป็นจุดๆ ได้ 

“สิ่งปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2554 มีส่วนสำคัญ ตอนนี้วัดจากปริมาณน้ำฝนได้เท่านั้น ว่ามวลน้ำน้อยกว่าปี 2554 แต่สิ่งที่ตามมาจะเห็นได้จากจังหวัดเชียงราย น้ำขึ้นเร็วและมีปริมาณมาก และตอนนี้ก็น่าจะถึงสนามบินแม่ฟ้าหลวง ใกล้ฝูงบิน 416  แต่สนามบิน ยังใช้งานได้อยู่ โดยได้ส่งกำลังทางอากาศเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เราต้องมาดูแลที่ตั้งของตนเองด้วย คิดว่าเฮลิคอปเตอร์ น่าจะมีประโยชน์มากที่สุด ในการเข้าช่วยเหลือได้โดยตรง และได้ส่งเครื่องบินถ่ายภาพทางอากาศส่งข้อมูลมายังภาคพื้นแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยประชาชนได้อย่างทันท่วงที” ผบ.ทอ. กล่าว

ผบ.ทอ. กล่าวต่อว่า สำหรับกำลังพลที่ลงไปช่วยเหลือประชาชนได้เน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและการเข้าช่วยเหลือประชาชน ย่อมมีความเสี่ยง ที่ผ่านมาฝูงบิน 416 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยมา 2 สัปดาห์แล้ว น่าจะมีความเหนื่อยล้า จึงส่งกำลังพลไปทดแทนสับเปลี่ยน เพื่อให้กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ออกมาพักบ้าง ตนมีความห่วงใยในสุขภาพของเจ้าหน้าที่แต่ภารกิจต้องสำเร็จ 

เมื่อถามว่าสำหรับการฝึกเพื่อรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ดอนเมือง พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ได้ให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศทำแผนป้องกันน้ำท่วมไว้ รวมถึงดอนเมืองด้วย จากประสบการณ์ปี 2554 จึงกำหนดว่าควรประชุมแล้วสมมุติสถานการณ์ เช่น ถ้ามีมวลน้ำเข้ามาทางภาคเหนือ ในระดับน้ำเท่าไหร่ จะเกิดน้ำท่วมตรงไหนบ้าง และให้สำรวจเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องสูบน้ำว่ามีจำนวนเท่าใด และระบายน้ำออกทางไหน ไม่ให้ไปกระทบประชาชน

“ผมเชื่อมั่นว่าการฝึกซ้อมการเตรียมพร้อม จะไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่แตกตื่น เพราะเป็นการวางแผนเตรียมความพร้อมเอาไว้เท่านั้น ถ้าไม่เตรียมความพร้อมเกิดอะไรขึ้นมาจะเกิดความเสียหายมากกว่า รวมทั้งทำให้ประชาชนเกิดความอบอุ่นใจ ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาจะไม่เหมือนปี 2554 ที่ระบายน้ำจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งสร้างผลกระทบให้กับประชาชน เนื่องจากเราได้เตรียมขุดลอกคลองเรียบร้อยแล้ว” ผบ.ทอ. กล่าว.