เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ได้ลุกขึ้นอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ว่า ผ่านนายกรัฐมนตรีมา 8 คน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กำลังเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 9 สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ จนในช่วงท้าย นายรอมฎอน ได้ระบุถึงกรณี วันที่ 12 ก.ย. นี้ ศาลมีการพิจารณาในคดีสำคัญของภาคใต้ คือ คดีตากใบ และเหลืออีก 44 วัน คือวันที่ 25 ต.ค. นี้ จะสิ้นสุดอายุความ พร้อมนำภาพของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาขึ้นสไลด์ พร้อมเขียนว่า “โอกาสของรัฐบาลลูกสาว อากาศของประชาชน ความรับผิดชอบทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ บาดแผลเหตุการณ์ตากใบ 25 ต.ค. 2547” จากนั้นได้กล่าวว่า “การขอโทษและขออภัยกับพี่น้องชาวตากใบ เมื่อ 20 ปีที่แล้วสำคัญมาก”

ทั้งนี้ นายรอมฎอน พยายามจะอภิปรายต่อ แต่ สส.พรรคเพื่อไทย ระดมลุกขึ้นประท้วง และมองว่าเป็นการทำผิดข้อบังคับ เพราะเป็นเรื่องของบุคคลภายนอก ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานการประชุม วินิจฉัยให้ยึดข้อบังคับ และอย่าพาดพิงถึงบุคคลภายนอก ทำให้นายรอมฎอน ยอมที่จะไม่นำภาพดังกล่าวมาประกอบการอภิปราย และอภิปรายเรียกร้องให้นายกฯ บอกสมาชิกรัฐสภาที่ถูกยื่นฟ้องในคดีตากใบ ขึ้นศาลตามนัด เพื่อสร้างบรรทัดฐานและสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม สร้างสันติภาพ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นพร้อมกัน

“ผมทราบว่าในคดีตากใบ ที่พิจารณานัดแรกวันนี้ ไม่มีจำเลยไปที่ศาลเลย ทำให้ศาลออกหมายจับ 6 คน และเตรียมส่งหนังสือเฉพาะจำเลยที่หนึ่งมายังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอจับกุม และทำตามหมายเรียก เรื่องนี้เป็นมรดกของของคนรุ่นผม และรุ่นนายกฯ ที่แบกรับต่อ ผมอยากเห็นความกล้าหาญในทางการเมืองของนายกฯ และรัฐบาลชุดนี้ มาแก้ปมปัญหานี้ด้วยกัน แสดงจุดยืนวัฒนธรรม ลอยนวลพ้นผิดต้องไม่เกิดขึ้นอีก การฆ่าประชาชนที่สูญเสียไปเป็นร้อยคนต้องไม่เกิดขึ้นอีก ยืนยันให้เราได้หรือไม่ ว่าต้องไม่มีใครกล้าฆ่าประชาชนแบบนี้อีก” นายรอมฎอน กล่าวด้วยน้ำเสียงรุนแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงต่อการอภิปรายของฝ่ายค้านที่เสียดสี พาดพิงถึงการทำงานรัฐบาล 1 ปี ในสมัยของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในห้องประชุมสภา ทั้งนี้ สมาชิกสามารถอภิปรายในแนวนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ได้ ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอย่างไร แต่สิ่งที่บอกว่า 1 ปีสูญเปล่า พาดพิงถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่อยู่ในห้องประชุม ถือว่าเป็นการเสียดสี และกล่าวหา เป็นเรื่องที่ทำไม่ถูก

“หากบอกว่าทำไม่ถูก ไม่ดี ขอให้ใช้เวทีอภิปรายตามมาตรา 151 แต่ที่บอก และอภิปรายว่าทำผิด ทำไม่ถูก ถือว่าเกินกว่าขอบเขตอภิปราย ดังนั้นขอให้สมาชิกอภิปรายในกรอบ อย่าพาดพิงรัฐบาลในอดีต ที่ไม่สามารถมาตอบในสภานี้ได้” นายจุลพันธ์ กล่าว

ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ได้กำชับให้สมาชิก ได้อภิปรายในกรอบการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา.