รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มบทบาทของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในระบบเศรษฐกิจ โดยจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของ SME เป็น 40% ภายในปี 2570 จากปัจจุบัน GDP ของ SMEs อยู่ที่ 35.2% เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจ SMEs ที่มีการจ้างงานกว่า 70% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีไม่ถึง 1.5 หมื่นราย กลับมีบทบาทต่อ GDP สูงเกือบ 60% หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม SMEs มีบทบาทถึง 40% ของ GDP อินโดนีเซีย 58% รวมถึงกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) มีบทบาทเฉลี่ยราว 50-60% ยิ่งตอกย้ำว่าไทยต้องเร่งพัฒนาและยกระดับ SMEs ให้มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ SMEs ไทยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากเท่าที่ควรเพราะส่วนใหญ่ยังค้าขายในประเทศเป็นหลัก สะท้อนจาก SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกมีเพียง 2.4 หมื่นราย หรือไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งระบบ ทั้งที่ตลาดในประเทศเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้กำลังซื้อไม่ขยายตัวสูงเหมือนในอดีต เหตุผลที่ SMEs ไม่กล้าที่จะเริ่มต้นส่งออก คือความกลัว มีทั้งกลัวความเสี่ยงว่าจะโดนคู่ค้าไม่ชำระเงินค่าสินค้า ไม่รู้จะขายอะไร ขายที่ไหน รู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียง SMEs เล็ก ๆ จะไปทำการค้าในต่างประเทศได้อย่างไร

“ทางออกของการเพิ่มบทบาทของธุรกิจ SMEs ในระบบเศรษฐกิจคือ SMEs ไทยต้องขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว กระจายฐานลูกค้าให้กว้างไกลไปทั่วโลก นอกจากนี้ มี SMEs ไทยบางส่วนที่เป็นผู้ส่งออกทางอ้อมอยู่แล้ว ทั้งที่เป็น Suppliers และขายผ่าน Traders ซึ่งกลุ่มนี้ควรก้าวไปเป็นผู้ส่งออกเองโดยตรง เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายจากคนกลาง” ดร.รักษ์กล่าว

ดร.รักษ์กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs หากเป็นนิติบุคคลทั้งที่ยังไม่ได้ส่งออก หรือสนใจจะเริ่มส่งออก ทาง EXIM BANK ยินดีที่จะให้ทดลองใช้บริการประกันการส่งออก ซึ่งเป็นการรับประกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อหรือธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศภายหลังการส่งออกในระยะเวลา 1 ปี ในวงเงิน 3 แสนบาท สนใจขอทดลองใช้บริการและปรึกษาปัญหาธุรกิจได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 โครงการนี้จะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับ SMEs กล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone ในประเทศไปสู่ตลาดผู้ซื้อใหม่ ๆ ทั่วโลก รวมถึงตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่เต็มไปด้วยความต้องการซื้อสินค้าและโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

นายอภิรัฐ แสงธงทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมการรับประกันการส่งออกและการลงทุน EXIM BANK กล่าวว่า ความเสี่ยงในการทำการค้าระหว่างประเทศมี 4 อย่างคือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านเทอมการชำระเงิน การทำสัญญาซื้อขาย และความเสี่ยงด้านคู่ค้าและนโยบายของประเทศคู่ค้า

“ตั้งแต่ EXIM BANK ให้บริการรับประกันการส่งออกตั้งแต่ปี 2538-มิถุนายน 2567 มีมูลค่ารับประกันรวม 2.08 ล้านล้านบาท มีมูลค่าการจ่ายสินไหมทดแทน 1.51 พันล้านบาท มีจำนวนลูกค้าได้รับชดเชยค่าสินไหมทดแทน 291 ราย สาเหตุหลักคือคู่ค้าเบี้ยวหนี้ไม่ยอมชำระเงิน 75% คู่ค้าล้มละลาย 24% และปฏิเสธไม่รับมอบสินค้า 1%” นายอภิรัฐกล่าว

EXIM BANK เป็นองค์กรรับประกันแห่งเดียวของไทยที่มีบริการประกันการส่งออกคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นและสะดวก อนุมัติเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้บริการประกันการส่งออกยังช่วยให้ผู้ส่งออกรู้จักผู้ซื้อดีขึ้น กล้าเสนอเทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรน และขยายตลาดส่งออกได้อย่างมั่นใจ ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนและช่วยติดตามหนี้ เมื่อเกิดความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า