มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “TSU ICON” เป็นอาคารส่งเสริมผู้ประกอบการและเรียนรู้ถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่พร้อมรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตตามสไตล์ Campus Life อาคารดังกล่าวได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยสถาปนิกระดับแนวหน้าของประเทศที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภาคใต้ ภายใต้การสืบสาน ต่อยอด และพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยทักษิณ ลักษณะตัวอาคาร 8 ชั้น ชั้นที่1-4 ใช้พื้นที่เป็นสถานประกอบการ ส่วนชั้นที่ 5-8 เป็นห้องพักจำนวน 50 หน่วย และอื่น ๆ รองรับแนวทางการพัฒนานิสิตสู่สังคมผู้ประกอบการ เรามาทำความรู้จักกับแนวคิดและสถาปัตยกรรมการออกแบบอาคาร “TSU ICON” สำหรับ CONCEPTUAL DESIGN การออกแบบ อาคารศูนย์ส่งเสริมการประกอบการและการเรียนรู้ (TSU Entrepreneurship and Learning Center)

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา มีกรอบแนวคิดในการออกแบบ (Design concept) มีรายละเอียดดังนี้ โครงสร้างตัวอาคารใช้แนวคิดการออกแบบที่เน้นลายเส้นกลีบดอกและเกสร ของดอก “ปาริชาต” (ปาริฉัตร) ที่สะท้อนแนวคิดของการออกแบบตัวอาคาร “ดอกปาริชาต” เป็นต้นไม้ และดอกไม้ ประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกมีลักษณะเป็นช่อสีแดงเข้ม คนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล โดยนำเอาลักษณะ รูปทรงของดอกปาริชาต มาเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบกรอบอาคาร ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความพริ้วไหว อ่อนช้อย ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ผ่านงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สำหรับแนวคิดในการออกแบบด้านเอกลักษณ์ มุมมองที่แสดงถึงวัฒนธรรม ได้นำเอา “เครื่องประดับมโนราห์” และ “ลวดลายเครื่องประดับมโนราห์” “ซับทรวง ทับทรวง” หรือ ตาบ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มาใช้ในงานออกแบบโดยสถาปนิกได้นำรูปทรงของทับทรวง ซึ่งเป็น ซับทรวง ทับทรวง หรือ ตาบ สำหรับสวมห้อยไว้ตรงทรวงอก นิยมทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายขนมเปียกปูนสลักเป็นลวดลาย และอาจฝังเพชรพลอยเป็นดอกดวง หรืออาจร้อยด้วยลูกปัด นิยมใช้เฉพาะตัวโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ตัวนางไม่ใช้ซับทรวง เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของภาคใต้

สำหรับการออกแบบโครงสร้างหลังคามีแนวคิดมาจาก “เส้นขอบฟ้าเมืองเก่าสงขลา” เป็นการแสดงถึงการออกแบบเชิงการนำบริบททางด้านที่ตั้ง มาใช้ในการออกแบบอาคารให้มีความเป็นเอกลักษณ์เมืองสงขลา โดยการนำเส้นขอบฟ้าของเมือง หรือรูปแบบหลังคาบ้านในเมืองเก่าสงขลาเล่าเรื่องผ่านสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าและสะท้อนความเป็นตัวตนวิถีวัฒนธรรมการตั้งถิ่นฐานของคนเมืองสงขลา และส่วนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันมาจาก “ตำราเรียน 3 เล่ม” มหาวิทยาลัยทักษิณมีตรามหาวิทยาลัย เป็นรูปตำราเรียน 3 เล่ม สีเทา (สีประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ) สะท้อนปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม และการพัฒนา” ล้อมรอบด้วยอักษรสีฟ้า (สีประจำมหาวิทยาลัย) การแสดงถึงเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ผ่านรูปแบบการออกแบบอาคารให้มีรูปทรงเหมือน “ที่เก็บตำราเรียน” สื่อสัญลักษณ์ถึง “ที่เก็บความรู้” ส่วน”หนังสือเรียน” สื่อสัญลักษณ์ถึง “ความรู้” และ “การเรียนรู้” การออกแบบแสงสว่างของตัวอาคาร ได้แนวคิดในการออกแบบแสงสว่าง และการจัดแสดงแสงสว่าง มุ่งเน้นให้เห็นถึง “มนต์เสน่ห์ทางศิลปวัฒนธรรรม” ผ่านลวดลายเครื่องประดับมโนราห์ ที่สะท้อนคุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ สถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาคารศูนย์ส่งเสริมการประกอบการและการเรียนรู้ (TSU Entrepreneurship and Learning Center) มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา หรือ “TSU ICON” ได้รับการผสมผสานศาสตร์แห่งเชิงช่างโบราณชั้นสูงอันมีเสน่ห์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย หลอมรวมวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม และตะวันตก ที่แสดงออกถึงสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดสงขลา และความเป็นอัตลักษณ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการสืบสาน ต่อยอด จากรุ่นสู่รุ่น