จากกรณีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ต.บางกุ้ง อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย.67 ทำให้มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 2,000 คนต้องหยุดเรียนกลางคัน

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ถึงการเกิดศูนย์การเรียนรู้ ในอดีตที่ผ่านมา จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้น โดย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมานั้น เหตุผลหลักเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะคือ กลุ่มบุคคลมีการรวมตัวกันที่จะสอนความรู้ให้แก่ลูกหลาน หรือให้แก่ประชาชนบุคคลอื่น จึงได้มีการรวมกันแล้ว จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้มีทั้งการสอนความรู้ในเชิงหนังสือทั่วไปหรือความรู้ในด้านอื่นๆ เช่น สอนเรื่องของการทอผ้า หรือเรียนรู้เรื่องหัตถกรรม ด้านเอาชีพ ซึ่งทั้งหมดสามารถทําได้ อีกลักษณะหนึ่ง ศูนย์การเรียนรู้ เกิดจากคนต่างชาติหรือคนข้ามชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้วกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเข้าไปเรียนในระบบของประเทศไทยได้ ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพูด อ่าน และเขียน ภาษาไทยที่ไม่เข้มแข็งหรือโรงเรียนในประเทศไทยเองไม่รับนักเรียนกลุ่มนี้ อาจด้วยเหตุของการเดินทาง การติดต่อสื่อสารที่ไม่สะดวก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าเรียนได้ จึงทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา เพื่อที่จะจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก และเยาวชนของกลุ่มตนเอง

ช่วงสมัยก่อนนั้นครูผู้สอนจะเป็นกลุ่มคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากประเทศเมียนมา เพื่อใช้ความรู้ที่ตัวเองมีหรือหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบของประเทศเมียนมาเอามาจัดการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีความกล้าที่จะนำเอาหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทยมาใช้เพราะไม่แน่ใจว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยจะมีความเห็นอย่างไร หรือจะผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้สุดท้ายกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนกันขึ้นมาเอง มีการออกวุฒิบัตรกันเอง ตามรูปแบบของตนเอง จึงทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา

โดยเฉพาะในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ประเทศเมียนมามีการสู้รบกันรุนแรงขึ้นทําให้กลุ่มแรงงานต่างชาติทั้งเข้ามาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากไม่สามารถกลับไปยังประเทศของตนเองได้ เป็นจำนวนกว่า 100,000 คน ที่อยู่ในประเทศไทย และในจำนวนคนกว่า 100,000 คนนั้น มีเด็กและเยาวชนจำนวนนับ 10,000 คน ซึ่งกลุ่มเด็กเหล่านี้หลายคนก็เคยเรียนหนังสือในประเทศเมียนมา โดยส่วนใหญ่เมื่อกลุ่มเด็กเหล่านี้ต้องติดตามบิดา มารดา เข้ามายังประเทศไทย จึงเกิดมีการเรียนการสอนขึ้นมาในกลุ่มเพื่อให้เด็กได้มีความรู้ต่อเนื่องโดยใช้หลักสูตรของของประเทศเมียนมา ต่อมาได้เริ่มมีการที่จะให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เข้าเรียนในระบบของประเทศไทยมากขึ้น โดยใช้การเรียนของการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เข้ามา นำหลักสูตรของไทยเข้ามาใช้ในกลุ่มนี้มากขึ้น จากข้อมูลที่พบ เช่น พื้นที่ จ.สมุทรสาคร พบว่าลูกของแรงงานที่เรียนจบ ป 6 แล้วกลับไปประเทศเมียนมามีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทย เหตุเพราะบิดา มารดา ยังคงรับจ้างทำงานในประเทศไทย เพราะฉะนั้นความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะภาษาไทยมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ หลักสูตรพม่ามีความจำเป็นต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้น้อยมาก การที่จะกลับประเทศเมียนมาก็น้อยลง คนที่ประสงค์จะกลับประเทศเมียนมาร์คาดว่ามีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่กล่มเหล่านี้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ก็จะยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยากได้ก็คืออยากได้ความรู้ที่เขาสามารถอยู่ในประเทศไทยได้และอยู่ร่วมกับสังคมโลกได้

แม้ว่าที่ผ่านมามีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ให้เด็กทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นลูกของแรงงาน ลูกของผู้ลี้ภัย ได้เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กไทย ไม่จํากัดวัย ไม่จํากัดวุฒิ เรียนได้ถึงปริญญาเอก ไม่จํากัดพื้นที่เรียนได้หมดแล้วก็มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียน พศ.2548 ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับด้วยว่ากระบวนการที่โรงเรียนจะรับนักเรียนเหล่านี้ต้องทำอย่างไรบ้าง และที่ผ่านมาพบว่ามีกลุ่มเด็กเหล่านี้เป็นจำนวนมากได้เข้าสู่ระบบการเรียน แต่ในขณะเดียวกันพบว่ายังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ อาจด้วยสาเหตุปัญหาใหญ่ๆ ได้แก่ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติ ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการรับเด็กและเยาวชน กลุ่มเหล่านี้เข้าเรียน ทั้งยังมีระเบียบออกมารองรับ แต่ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีมาตรการใดๆ เข้ามาช่วยเหลือ และรองรับกับกลุ่มเด็กและเยาวชนหล่านี้ กลุ่มเหล่านี้ที่เป็นลูกแรงงานส่วนใหญ่ใช้ภาษาอื่นที่เป็นพื้นฐาน ควรจะมีการปรับระบบภาษา ปรับระบบวัฒนธรรม ที่พอที่จะมีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมบ้าง

แต่ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการไม่มีกระบวนการรองรับสิ่งเหล่านี้ กลุ่มเด็ก เยาวชน เหล่านี้ เป็นเด็กที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษต้องมีความแตกต่างจากเด็กไทยปกติทำให้โรงเรียนไม่มีความพร้อมในการรับเด็กกลุ่มเหล่านี้ อีกประเด็นคือ ทัศนคติ ในบางโรงเรียน ที่มองว่าเป็นลูกแรงงาน เป็นเด็กต่างด้าว ที่ไม่ควรจะได้รับสิทธิเหล่านี้ จึงไม่รับเข้าเรียน อีกประการหนึ่ง คือ บางโรงเรียนมองว่าหากรับกลุ่มเด็กเหล่านี้เข้ามาเรียน การประเมินการวัดผลของโรงเรียนจะตกลง เพราะเด็กกลุ่มเหล่านนี้เมื่อเข้ามาในช่วงแรก ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้การประเมินผลต่ำ และส่งผลให้ภาพรวมของโรงเรียนต่ำลง รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐเองที่สามารถทำให้การจัดการเรียนการสอนสมบูรณ์มากขึ้น ก็แทบจะไม่มี ทำให้กลุ่มเด็ก เยาวชน เหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของไทยได้ อีกประการหนึ่งคือ สภาพสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่เปิดใจยอมรับ กลุ่มบุคคลข้ามชาติเหล่านี้ ยังมีทัศนคติที่มองกลุ่มเหล่านี้ ว่า เป็นผู้ใช้แรงงาน เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เข้ามาสร้างปัญหา โยมีแนวคิดว่าจะต้องกันบุคคลเหล่านี้ออกจากสังคมไทย

การลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด เด็ก และเยาวชนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่า บิดา มารดา จะเป็นผู้เข้าเมืองมาโดยถูกกฎหมาย หรือ เข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย แต่เด็กอยู่ในสังคมไทย หากได้รับความรู้ การพัฒนาที่ดี เด็กเหล่านี้ จะไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทย ไม่ว่าจะยังอยู่ในประเทศไทย หรือไปอยู่ประเทศอื่น เด็กเหล่านี้ก็จะมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมไทย ช่วยเผยแพร่สิ่งดีๆของสังคมไทย เช่นในอดีตที่ผ่านมา ต่างประเทศมีการส่งลูกหลานเข้ามาศึกษายังประเทศไทย มาเรียนรู้ภาษาไทย ประเพณีวัฒนธรรมไทย ก็เป็นการเผยแพร่ในรูปแบบหนึ่ง การศึกษา และความมั่นคง เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน. นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย