“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ และซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ – บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (เดือน พ.ค.62-พ.ค.64) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (เดือน เม.ย.60-พ.ค.64) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท จากกรุงเทพมหานคร(กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันชำระหนี้ภายใน 180 วันหลังจากศาลฯ มีคำพิพากษา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ค.67

ปัจจุบันดอกเบี้ยยังคงเดินอย่างต่อเนื่องทุกวัน ส่งผลให้ยอดหนี้ที่ต้องชำระเมื่อรวมดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้น กทม. ได้เสนอต่อที่ประชุมสภา กทม. เพื่อขออนุมัติการจัดตั้งงบประมาณในการชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บีทีเอสซี โดยที่ประชุมให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กทม. เคที และบีทีเอสซี ยังไม่ได้มีการหารือและสรุปร่วมกันว่าจะชำระหนี้ในรูปแบบใด และจะชำระให้เมื่อใด ซึ่งเวลานี้ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบเวลา 180 วันที่ศาลฯ มีคำพิพากษา ดังนั้นทางบีทีเอสซี จึงยังรอการชำระหนี้ดังกล่าวได้ และยังไม่มีการจะฟ้องร้องประเด็นใดเพิ่มเติม

ที่ผ่านมาจะมีเพียงการประชุมร่วมกันระหว่างเคที และบีทีเอสซี เพื่อสรุปตัวเลขยอดหนี้ และดอกเบี้ยให้ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กทม. และเคที มีหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ เกินกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.หนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาฟ้องครั้งที่ 1 (พ.ค.62-พ.ค.64) ประมาณ 11,755 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย 2.หนี้ที่ฟ้องอยู่ในศาลชั้นต้น ฟ้องครั้งที่ 2 (มิ.ย.64-ต.ค.65) ประมาณ 11,811 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย และ 3.หนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้อง (พ.ย.65-มิ.ย.67) ประมาณ 13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมียอดเงินค่าจ้างตามสัญญาในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนสิ้นสุดสัญญาจ้างปี 2585 ที่ต้องชำระให้แก่บีทีเอสซีด้วย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบีทีเอสซี เคยให้สัมภาษณ์ในการแถลงข่าวเรื่อง “หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ว่า ทางที่ดีที่สุดอยากให้ กทม. และเคทีจ่ายคืนหนี้ทั้งก้อนเลย เพราะนอกจากจะนำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้แล้ว มีแผนนำเงินมาใช้พัฒนางานบริการ และสถานีต่างๆ ซึ่งสถานีรถไฟฟ้าสร้างมา และเปิดใช้งานมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ถึงเวลาแล้วต้องปรับปรุง ตกแต่ง ทาสีใหม่ เพิ่มระบบต่างๆ ที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าที่ผ่านมา ตลอดจนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และจัดหาขบวนรถใหม่ เพื่อเข้ามาให้บริการผู้โดยสารเพิ่มเติม.