เมื่อเร็วๆ นี้ นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พาผู้เสียหาย 2 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง ทำให้สูญเสียการมองเห็น มีแผลพังผืดขึ้นตามผิวหนัง มายื่นหนังสือผ่านนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบและให้การช่วยเหลือเยียวยา โดยนายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า ผู้เสียหาย 2 รายนี้เกิดปัญหาแพ้ยาที่ได้รับการรักษาใน รพ.เอกชน 2 แห่ง คนละ รพ. แต่รับการรักษาในอาการเดียวกัน คือ มีไข้ และคาดว่าจะได้รับการฉีดยารักษาตัวเดียวกันด้วย และมีผลข้างเคียงเหมือนๆ กัน จึงมีข้อสงสัยว่า 1.ยาที่นำไปฉีดรักษาโรคนั้น มีมาตรฐานหรือไม่ 2.การรักษาเป็นไปตามเวชปฏิบัติหรือไม่ 3.มีการลงบันทึกการรักษาในเวชระเบียนของ รพ.เอกชน ทั้งสองแห่งอย่างไร ถ้ามีการแก้ไข ปลอมแปลงก็จะมีความผิดตามกฎหมาย และ 4.การช่วยเหลือเยียวยาจากทาง รพ.เอกชน มีขั้นตอนอย่างไร

นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า ทั้งนี้ รมว.สาธารณสุข ได้กำชับว่าจะต้องดูแลผู้เสียหายทั้ง 2 ราย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 100% จึงสั่งการให้ รพ.พระนั่งเกล้า รับตัวผู้เสียหายทั้ง 2 ราย ไปตรวจดวงตา เบื้องต้นรายแรก สูญเสียการมองเห็นของดวงตาข้างซ้าย ส่วนข้างขวา มองเห็นเพียง 30% ส่วนรายที่ 2 มองเห็นเพียง 70% ส่วนแผลพังผืดที่ผิวหนังของทั้ง 2 คนนั้นได้ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเข้ามาดูแล รวมถึงให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าไปตรวจสอบ รพ.เอกชน ทั้งสองแห่ง และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าไปตรวจสอบมาตรฐานยาที่ใช้รักษา โดยนำตัวอย่างยาดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ด้าน ผู้เสียหายรายที่ 1 อายุ 31 ปี กล่าวว่า เริ่มต้นตนเริ่มเป็นตาแดง เจ็บคอ จึงไปพบแพทย์ใน รพ.เอกชน แห่งหนึ่งโดยใช้สิทธิประกันสังคม แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ รักษาด้วยยาฉีด เมื่อกลับบ้านเริ่มมีไข้ ตัวสั่น มีตุ่มผื่นตามร่างกาย ใบหน้าและปาก วันรุ่งขึ้นตนไปพบแพทย์ตามนัดฉีดยาเข็มที่ 2 แพทย์เห็นว่าผิดปกติจึงส่งไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยให้ความเห็นว่าเป็นการแพ้อะไรซักอย่าง จึงให้เข้ารักษาใน รพ. และได้รับยาฉีดเข็มที่ 2 วันถัดมา มีอาจารย์แพทย์ ให้ความเห็นว่าเป็นอีสุกอีใส ตนจึงแจ้งว่าเคยเป็นแล้วตอนเด็ก แพทย์จึงบอกว่าอาจเพราะภูมิคุ้มกันต่ำจึงกลับมาเป็นอีก และทำการฉีดยารักษาให้ จากนั้น ตนก็มีอาการตาพร่ามัว มองไม่เห็น เข้าห้องไอซียูในคืนนั้น ทำการรักษาตั้งแต่วันที่ 21–26 มิ.ย. 2567 แพทย์ทำการวินิจฉัยว่า ตนเป็นกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน แพ้ในระดับ 10 อาการโคม่า จึงได้ส่งตนไปรักษาใน รพ. แห่งที่สองซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน แพทย์ทำการลอกผิวหนังที่ตายแล้วทุกสัปดาห์ พันผ้าก๊อซ ห้ามขยับตัว ทาง รพ.แห่งนี้แจ้งว่าตาเสี่ยงบอด ถ้าไม่ได้ใส่เยื่อหุ้มรกที่ตา แต่สิ่งที่เสียความรู้สึกคือ รพ.แห่งแรกได้ลืมนัดผ่าตัดใส่รกกับ รพ.แห่งที่สอง แต่ รพ.แห่งที่สองดำเนินการไปซื้อรกที่สภากาชาดไทยและผ่าตัดให้

ทั้งนี้ การใช้ชีวิตของตนหลังจากสูญเสียการมองเห็นนั้น ต้องหยอดตาทุกชั่วโมง ไม่สามารถแยกแยะสีได้ มองไม่เห็นความแตกต่างของขั้นบันได ต้องมีคนพยุงเดินตลอดเวลา เวลามองใครก็จะเห็นเป็นคน แต่ไม่เห็นหน้าตา ส่วนผิวแพทย์แจ้งว่าต้องรอดูอีก 6 เดือน และขอให้ไปรักษาเอง ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้รับการเยียวยาจาก รพ.เอกชน ดังกล่าวเลย

ผู้เสียหายรายที่ 2 กล่าวว่า ตนมีอาการเริ่มต้นคือมีไข้สูง เจ็บคอ จึงไปพบแพทย์ใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ในวันที่ 30 ก.ค. 2567 แพทย์ตรวจไม่พบไข้หวัดใหญ่ แจ้งว่ามีการติดเชื้อ เลยฉีดยาให้ 1 เข็ม และให้ยาฆ่าเชื้อก่อนกลับบ้าน เมื่อตื่นมามีอาการเจ็บตา เจ็บช่องปาก ต่อมาเวลาสายๆ เริ่มมีอาการแรงขึ้น หน้าเริ่มแดง มีตุ่ม 1 เม็ด และไข้สูงขึ้น เมื่อกลับไป รพ.เดิม ได้ส่งไปพบแพทย์ผิวหนัง และตรวจหาเชื้อเริมแต่ไม่พบเชื้อ ตนสอบถามว่า อาจเกิดจากการแพ้ยาหรือไม่ แพทย์ระบุว่าไม่ใช่ ต่อมาอาการเริ่มมากขึ้น จึงไป รพ.แห่งที่สอง แพทย์วินิจฉัยว่าน่าจะแพ้ยา เลยให้แอดมิตทำการรักษาใน รพ. ทั้งนี้ จนถึงตอนนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจาก รพ.แห่งแรกเลย ส่วนสายตายังไม่สามารถมองเห็นได้ 100% และยังมีแผลไหม้ครึ่งตัว และต้องถอดเล็บด้วย

ด้าน นายเอกภพ กล่าวว่า ผู้เสียหายทั้ง 2 ราย ไม่มีเจตนาที่จะมาเอาผิด รพ.เอกชน หรือเอาผิดแพทย์ที่ทำการรักษา เพราะเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทางผู้เสียหายก็มีความต้องการที่จะรักษาดวงตาและแผลที่ผิวหนัง รวมถึงต้องถอดเล็บด้วย ทำให้ตอนนี้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และใช้ชีวิตลำบาก รวมถึงอยากให้ทาง รพ.เอกชน ทั้งสองแห่ง ได้เข้ามาพูดคุยถึงเรื่องการเยียวยา เพราะตั้งแต่เกิดเหตุขึ้น ผู้เสียหายยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากทาง รพ.เอกชน ทั้งสองแห่ง กลายเป็นคนทุพพลภาพ ที่ต้องรักษาตัวเอง.