ไม่ว่าจะวางแผนย้ายเมืองหลวง หรือปรับปรุงมหานครให้สู้กับภาวะโลกเดือดได้ จะใช้เวลากว่าสิบปี และต้องเตรียมงบประมาณการลงทุนมหาศาล ซึ่งเพื่อนเราอย่างอินโดนีเซีย กำลังจะได้ย้ายเข้าเมืองหลวงใหม่ของเขาแล้ว ไม่ใช่แค่เพียงหนีนํ้า แต่เมืองหลวงเดิมมีผู้คนแออัดเกินไป แก้ไขปัญหาด้านผังเมืองที่เป็นอยู่ได้ยาก จึงคิดว่าสร้างเมืองใหม่ที่ยั่งยืน อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์น่าจะดีกว่า

สำหรับมหานครที่ไม่ยอมย้าย ตัดสินใจสู้กับภาวะโลกเดือด และความเสี่ยงต่าง ๆ จากระดับนํ้าทะเลสูงขึ้นทุกปี นํ้าท่วมฉับพลันจากมรสุมในฤดูฝน และการขาดแคลนนํ้าในหน้าแล้ง เขามีการปรับตัวกันอย่างไร ต้องลงทุนมากขนาดไหน

ลองมาดูตัวอย่าง 5 มหานครสะเทินนํ้าสะเทินบก ว่ามีอะไรที่เราสามารถทำได้บ้าง

1.Manhattan, New York, USA. จากความเสี่ยงที่ระดับนํ้ารอบ ๆ เกาะแมนฮัตตันสูงขึ้นเรื่อย ๆ แถมบางปียังเจอเฮอริเคนถล่ม และน่าจะมีความเสี่ยงว่าจะมีพายุที่รุนแรงกว่า มาบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาจึงหาทางแก้โดยคิดโครงการ “Big U” ที่ต้องลงทุนเกือบแสนล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงจากพายุ และภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกเดือด โดยปรับปรุงพื้นที่ส่วนใต้ของเกาะแมนฮัตตันที่อยู่ติดมหาสมุทร ซึ่งได้รับผลกระทบสูงสุด โดยปรับปรุงพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่อยู่ติดทะเล ทำพื้นที่ซับนํ้า ป้องกันมรสุมหลายชั้น ปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ให้ใช้ได้แม้ยามวิกฤติ เช่นระบบขนส่งสาธารณะภายในเกาะ การขนส่งเข้าออกเกาะไปยังเมืองบริวาร ระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาล สถานศึกษา รวมถึงปกป้องศูนย์กลางเศรษฐกิจ Wall Street ที่อยู่บริเวณนั้นด้วย

2.Wuhan, China เมืองหวู่ฮั่น ถูกปรับปรุงให้เป็นมหานครแห่งความยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการนํ้า ที่เป็นปัญหาใหญ่ของมหานครในประเทศจีนที่มีประชากรจำนวนมาก รัฐบาลจีนจึงลงทุนในโครงการนวัตกรรมที่เรียกว่า “Sponge City” มหานครฟองนํ้า ที่ออกแบบผังเมืองด้วยแนวคิดความยั่งยืนของภูมิสถาปัตย์ มีเป้าหมายที่จะกักเก็บนํ้าจากฟ้าให้มากที่สุด โดยออกแบบพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก และหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่สีเขียวในเมืองที่เป็นสวนเล็ก ๆ เชื่อมต่อกัน มีระบบการปลูกต้นไม้ใหญ่บนถนนสายหลัก และมีระบบดูดซับนํ้าไปเก็บไว้ใต้ดิน ต่อกับพื้นที่ชะลอนํ้าต่าง ๆ ทั้ง สระนํ้า บ่อ บึง ทะเลสาบ มีสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าที่สามารถเป็นพื้นที่สันทนาการ และใช้พักผ่อนสำหรับคนเมืองได้ด้วย แนวความคิดเหมือนการสร้างฟองนํ้ารอบ ๆ เมือง ด้วยมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้าน ช่วยเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศ และทำให้ราคาที่ดินใน Sponge City มีราคาแพงขึ้นมาก และแนวคิดนี้ยังเป็นต้นแบบให้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

4.Tokyo, Japan มหานครโตเกียวมีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมักจะประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งพายุ แผ่นดินไหว พื้นดินถล่ม และปริมาณนํ้าเกินกำลังแม่นํ้าที่รองรับนํ้าได้ ชาวญี่ปุ่นจึงคิด นวัตกรรม ระบบเครือข่ายชะลอ กักเก็บนํ้าใต้ดินที่เรียกว่า “TRN Tunnel and Reservoir Network” ที่ลงทุนเกือบแสนล้านบาท กินพื้นที่ 6.3 ตารางกิโลเมตร โดยสามารถเก็บนํ้าไว้ใต้ดิน
กว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร กว่า 20 ปีที่เปิดดำเนินการได้ช่วยปกป้องเศรษฐกิจไม่ให้เกิดความเสียหายจากนํ้าท่วมใหญ่มาแล้ว 12 ครั้ง ด้วยระบบเครือข่ายใต้ดิน และเทคโนโลยีการจัดการนํ้าที่ลํ้าสมัย

3.Cape Town, South Africa ไม่กี่ปีมานี้ เคปทาวน์ ประสบวิกฤติการขาดนํ้าครั้งใหญ่ ซึ่งผู้คนถูกจำกัดการใช้นํ้ารายวัน มหาเศรษฐี และบริษัทชั้นนำตัดสินใจย้ายไปอยู่เมืองอื่น วิกฤตินี้สั่นระฆังเตือนให้ผู้บริหารเมือง ต้องรีบผลักดันโครงการนวัตกรรม “ระบบเก็บนํ้าใต้ดิน The Cape Flats Aquifer” ไว้ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซํ้าอีก ทั้งนี้ยังต้องมีโครงการอนุรักษ์นํ้า บำบัดนํ้าเสียมาใช้ใหม่ ใช้นํ้าอย่างประหยัด เข้มงวดเรื่อง Water Footprint และมีมาตรการส่งเสริมการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน และมีภาษีใหม่ ๆ เรื่องนํ้าอีกด้วย

5.Rotterdam, The Netherlands รอตเทอดาม เมืองท่าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่คล้ายกับอีกหลายเมืองของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีพื้นที่ราบหลายแห่งอยู่ตํ่ากว่าระดับนํ้าทะเล ชาวดัตช์จึงสร้างโครงการนวัตกรรมชื่อว่า “Resilient Rotterdam” เมืองสะเทินนํ้าสะเทินบก ที่ต้องทำครบวงจร 360 องศา ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนทุกคน ทุกคนต้องมีความรู้ ต้องเตรียมตัว ต้องรู้ว่าเมื่อภัยพิบัติมาต้องทำอะไร มีการซ้อมเตรียมความพร้อม มีข้อมูลสาธารณะเรื่องระดับนํ้า และภาวะวิกฤติ ดูได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงผังเมืองใหม่ให้มีระบบกำแพงกันนํ้า มีพื้นที่ชะลอนํ้าฉุกเฉิน เช่นทำสนามฟุตบอลชุมชนในพื้นที่ตํ่า ไว้เก็บกักนํ้าในช่วงฝนตกหนัก ไม่ให้นํ้าท่วมถนนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ถูกออกแบบให้ทนทานปรับตัวตามนํ้าได้ บ้านเรือนบางแห่งออกแบบเหมือนแพปรับขึ้นลงตามระดับนํ้า อาคารใหม่ ๆ ต้องออกแบบให้กักเก็บนํ้า มีหลังคาเขียว มีสวน และต้องใช้วัสดุรีไซเคิลคาร์บอนตํ่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดูเมืองเพื่อน ๆ เขาคิดนวัตกรรม แล้วทำทันที รอโลกเดือดไม่ได้… แล้ว กทม. และรัฐบาลไทยจะว่าอย่างไร.