เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี นำคณะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำการที่ครอบงำพรรคเพื่อไทย

โดย นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตนได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่นายทักษิณครอบงำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และพรรคเพื่อไทยยอมให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำ ชี้นำ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ซึ่งการที่ตนต้องมาร้องเรื่องนี้เพราะมองว่าการครอบงำเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย คนที่กระทำการครอบงำนั้น มีการไปติดต่อ เจรจา มีผลประโยชน์อะไร ประชาชนไม่รู้ จึงเห็นว่า ต้องร้องต่อ กกต. เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์ของประชาชน และระบบกฎหมาย

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า มี 3 ประเด็นที่นำสู่การร้องเรียน 1. นายทักษิณเชิญแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายชัยเกษม นิติสิริ และพรรคร่วม มาเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 14  ส.ค. ช่วงเย็น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง ซึ่งสื่อมีการนำเสนอข่าวว่าได้ข้อสรุปการหารือว่าจะเสนอชื่อนายชัยเกษม เป็นนายกรัฐมนตรี แม้วันที่ 15 ก.ย. จะมีการประชุมของพรรคเพื่อไทย และมีการเปลี่ยนตัวว่าที่นายกฯ เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่ถือว่าการกระทำของวันที่ 14  ส.ค. ที่ผ่านมา สำเร็จไปแล้ว โดยนายทักษิณซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาครอบคลุม ครอบงำ ชี้นำพรรคเพื่อไทย และแกนนำหรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยไม่ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวว่า 2. เป็นเหตุการณ์วันที่ 20 ส.ค. นายทักษิณให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยตอบคำถามว่า จะให้ น.ส.แพทองธาร ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม หรือไม่ ว่า เป็นเรื่องที่หนักเกินไป แม้ น.ส.แพทองธาร จะเป็นบุตรสาว แต่ก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งการพูดลักษณะนี้ เท่ากับเป็นการชี้นำหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกทั้งสื่อยังถามต่อว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการครอบงำหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่าไม่ใช่ “ครอบงำ” แต่เป็นการ “ครอบครอง” ซึ่งแม้จะเป็นการพูดเล่น แต่คำนี้หนักกว่าการ “ครอบงำ” เพราะคำว่า ครอบงำคือมีอิทธิพลเหนือกว่า ให้คนอื่นปฏิบัติตาม แต่ครอบครองคือมีสิทธิเป็นเจ้าของ สังคมอาจมองว่า น.ส.แพทองธาร เป็นลูกสาว นายทักษิณเป็นบิดา ก็สามารถใหคำปรึกษาได้ ซึ่งตนก็เห็นด้วย แต่ต้องเป็นการให้คำปรึกษาที่บ้าน ไม่ใช่มาแสดงออกผ่านสาธารณะ แบบนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า นายทักษิณคือหัวหน้าพรรค ดังนั้นการที่นายทักษิณ มีพฤติการณ์ชี้นำ ครอบงำ ควบคุม จึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย

3.การที่ให้สัมภาษณ์ว่าจะเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล ซึ่งนายทักษิณ ตอบสื่อชัดเจนว่า ต้องการเสียงที่เพียงพอต่อการผ่านกฎหมาย สุดท้ายก็เอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเป็นผู้ส่งหนังสือเชิญ พฤติกรรมนี้เท่ากับว่า นายทักษิณ ชี้นำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ นอกจากนี้ ยังมีกรณีปัญหาการร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งนายทักษิณ ก็ชี้ว่า จะเอากลุ่มไหนมาร่วมรัฐบาล สุดท้ายเป็นไปตามที่นายทักษิณ ชี้ว่าจะเอากลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส มาร่วมรัฐบาล

“3 เหตุผลนี้หากปล่อยให้มีการครอบคลุม ชี้นำ ครอบงำ จะเกิดอันตรายกับประเทศ พฤติกรรมสองอย่างนี้ไปด้วยกัน เหตุการณ์หนึ่งที่พรรคการเมืองยอมให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชกพรรคมามีพฤติกรรมแบบนี้ พรรคการเมืองก็มีความผิด และนำไปสู่การยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์นี้ เป็นผู้ใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ก็เป็นความผิดตามมาตรา 29 เราจึงร้องร่วมในเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกันต่อ กกต.” นพ.วรงค์ กล่าว

เมื่อถามว่ามีการร้องเหตุการณ์ที่พรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปพบนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า คิดว่า กกต. จะนำคำร้องของ นพ.วรงค์ ไปรวมด้วยหรือไม่ นพ.วรงค์ กล่าวว่า คนละส่วนกัน ตนร้องเรียนกรณีของพรรคเพื่อไทยกับนายทักษิณ แต่คำร้องนั้นเป็นการร้องพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ซึ่งส่วนตัวมองว่าพรรคร่วมรัฐบาล มีสิทธิเจรจากับใครก็ได้ และเชื่อว่าเขาไม่ได้ถูกครอบงำ แต่ต้องอิงบนผลประโยชน์ของเขา ใครมาเจรจาก็ต้องมาปรึกษาหารือว่า อันไหนได้ประโยชน์สูงสุด จึงเป็นการเจรจาต่อรองธรรมดา แต่พรรคเพื่อไทย มีการปฏิบัติตามสิ่งที่นายทักษิณพูดเกือบทั้งหมด เราจึงร้องเฉพาะเรื่องนายทักษิณ กับพรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่าการร้องครั้งนี้อาจทำให้ถูกมองว่าอยู่ร่วมขบวนการใช้นิติสงคราม เพื่อทำลายรัฐบาล นพ.วรงค์ กล่าวว่า คำว่า “นิติสงคราม” เป็นคำที่ยกขึ้นมาเพื่อโจมตีคนที่มาร้องเรียน ตนอยากถามกลับคนที่ใช้คำนี้ขึ้นมาว่า คุณเป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะหลักใหญ่ประชาธิปไตยมี 3 ข้อคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการเลือกตั้ง แต่ข้อที่สาม ที่เป็นกระบวนการสำคัญคือการตรวจสอบและถ่วงดุล ดังนั้นกระบวนการประชาปธิไตยต้องน้อมรับการตรวจสอบและถ่วงดุล การที่มาโจมตีคนที่มาร้องเรียนว่า ใช้นิติสงครามนั้น เท่ากับไม่ยอมรับการตรวจสอบ และถ่วงดุล ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนหลงประเด็น เพาะคนพวกนี้กลัวการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งเป็นเสน่ห์ของประชาธิปไตย ที่คนได้ประโยชน์คือประชาชน เพราะนักการเมืองจะระมัดระวังตัวในการที่จะทำอะไร

“คำว่านิติสงคราม จึงเป็นวาทกรรมที่เกรงกลัวการตรวจสอบของคนที่กลัวการถูกตรวจสอบ แต่ปากอ้างว่าตัวเองคือนักประชาธิปไตย ซึ่งพวกนี้คือของปลอม ยังบอกว่าคนร้องรับเงิน ก็ขอให้บอกเลยว่าใครรับเงิน ลองบอกว่าหมอวรงค์รับเงิน ผมจะฟ้อง อย่าพูดลอยๆ ตีกิน ด้อยค่าคนอื่น แน่จริงระบุชื่อหมอวรงค์รับเงิน ไม่ต้องระบุว่ารับเงินใครมา แต่แค่บอกว่าผมรับเงินเท่าไหร่ ผมฟ้องคุณแน่ คนอย่างผมไม่มี ถ้ารับรวยไปแล้ว ตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าว 9.4 แสนล้านบาท ผมรับเล็กๆ น้อยๆ สัก 500 ล้าน หรือพันล้าน ซึ่งมีคนเจรจาด้วย ผมยังไม่รับเลย นับประสาอะไรมาบอกว่าคดีละสองแสน กระจอกเกินไป” นพ.วรงค์ กล่าว

เมื่อถามว่า การกลับมาของนายทักษิณ จะเป็นการฟื้นระบอบทักษิณ นพ.วรงค์ กล่าวว่า ก็เกิดขึ้นจริง เพราะระบอบทักษิณที่เราจำกัดความไว้คือการใช้อำนาจไม่ชอบ นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น ตอนแรกที่นายทักษิณกลับมา ตนให้อภัย เพราะเห็นว่าเขาคงมีสำนึก และตนได้อ่านพระบรมราชโองการระบุว่า ยอมรับผิด สำนึกผิด พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนโอเคมาก พร้อมให้อภัย แต่พอดูไปแล้วมันไม่ใช่ นายทักษิณกล่าวหาว่า ถูกยัดข้อหา และไปปาฐกถาว่า โดนหมั่นไส้หน่อยต้องไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี สะท้อนว่านายทักษิณ ไม่ได้สำนึกผิด ดังนั้นตนมองว่า สังคมให้โอกาสนายทักษิณแล้ว แต่นายทักษิณไม่รับโอกาสนี้ เหมือนกับการที่ไม่ยอมอยู่ชั้น 14 และมีพฤติกรรมที่ทำให้คนสงสัยว่ามีการครอบงำ เท่ากับกำลังรื้อฟื้นระบอบทักษิณขึ้นมา หลังๆ มีคนใช้คำว่า ระบอบชินวัตรแล้ว เพราะมันหนักกว่าตัวนายทักษิณ ดังนั้น ถ้านายทักษิณ คิดดีต่อชาติบ้านเมืองจริง ก็ขอให้เคารพกฎหมาย เคารพรัฐธรรมนูญ เราให้อภัยคุณได้ แต่ถ้าท้าทายกฎหมายก็ช่วยไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยคือการตรวจสอบ ถ่วงดุล ดังนั้น นายทักษิณคือผู้รื้อฟื้นระบอบทักษิณ และแปลงร่างไปเป็นระบอบชินวัตร

เมื่อถามว่าการร้องเรียนครั้งนี้ จะมีน้ำหนักและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตนมองเป็น 2 กรณี เรียกร้อง กกต. คือองค์กรอิสระที่เป็นหัวใจสำคัญที่สร้างสมดุลระบอบประชาธิไตย ถ้า กกต. ทำเต็มที ซึ่งมีช่องทางให้ กกต. เร่งตรวจสอบได้เยอะ ทำเรื่องนี้ให้กระจ่างโดยเร็ว คิดว่า บ้านเมืองดีขึ้นแน่นอน การที่เราร้องเรียน เป็นการกระตุกให้คนที่คิดทำไม่ดีกับบ้านเมืองระวังมากขึ้น ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการร้องไปเรื่อย ตนเพิ่งร้องนายทักษิณ กรณีชั้น 14 เท่านั้น ซึ่งต้องถามว่า ไม่ควรร้องอย่างนั้นหรือ ตนไม่ใช่เลอะเทอะ แต่ทำแบบมีหลักเกณ์ มีข้อมูลหลักฐาน ทำเรื่องใหญ่ เรื่องเล็กไม่ทำ.