รศ. นพ.เกรียงศักดิ์ แซ่เตีย สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า  โรคกระดูกคอเสื่อม นับเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บปวดที่บริเวณลำคอ ต้นคอ ซึ่งพบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่ต้องก้มคอมองหน้าจอ ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง

อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อม คือ อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ระหว่างกระดูกคอแต่ละข้อได้รับแรงกระแทกสะสมมาเป็นเวลานานจนลักษณะโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังยุบตัวลง หรือมีหินปูนเกาะที่บริเวณกระดูกและเอ็นพังผืดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนมากของอาการปวดคอ ก็ยังคงเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหรือเอ็นรอบคอเคล็ดที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยให้ความรู้สึกปวดตึงต้นคอกินเวลาเรื้อรังเป็นเวลานาน เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากโรคกระดูกคอเสื่อมที่ส่งผลกระทบรุนแรงตามมาได้ในอนาคต

โรคกระดูกคอเสื่อม คืออะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

โรคกระดูกคอเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่บริเวณกระดูกต้นคอซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ หมอนรองกระดูกคอ กระดูกคอด้านหน้า ข้อต่อกระดูกคอ และเอ็นประกบข้อบริเวณกระดูกคอ ส่งผลให้กระดูกคอไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดตึงต้นคอ คอติด ก้มหรือเงยหน้าได้ลำบาก มีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณอื่น ๆ หรือในกรณีที่มีความรุนแรงมากที่สุดอาจทำให้รู้สึกชา อ่อนแรง และเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวก โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • กระดูกคอเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งจากหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีส่วนประกอบของน้ำลดลง การมีหินปูนหรือกระดูกงอกยึดเกาะที่กระดูกคอและเอ็นพังผืด
  • โรคกระดูกคอเสื่อมที่เกิดจากการใช้คอผิดท่า เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในยุคปัจจุบันทั้งจากการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ การนั่งโต๊ะทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน รวมไปจนถึงคนที่ชอบหมุนหรือสะบัดคอแรง ๆ เป็นประจำ ทำให้กระดูกคอเสื่อมก่อนวัยอันควร
  • กระดูกคอเสื่อมหลังประสบอุบัติเหตุที่บริเวณลำคอ ทำให้กระดูกคอผิดรูปและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของกระดูกคอ
  • เกิดจากโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระดูกต้นคอ

ลักษณะอาการของโรคกระดูกคอเสื่อม

โรคกระดูกคอเสื่อมนับเป็นภัยเงียบที่ต้องระวังเพราะอาการของโรคจะไม่แสดงอย่างชัดเจนในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่จะเกิดจากการสะสมเรื้อรังเป็นเวลานาน โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการปวดคอ ปวดตึงต้นคอเป็น ๆ หาย ๆ กินระยะเวลานานหลายเดือนไปจนถึงปี และมีอาการที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงระดับความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • มีอาการปวดคอ ปวดตึงต้นคอ มีอาการคอติด หันซ้าย-ขวา ก้มหน้าหรือเงยหน้าได้ลำบาก
  • เมื่อมีหินปูนเกาะกระดูกหรือกระดูกงอกจนไปกดเส้นประสาทมักทำให้ผู้ป่วยปวดคอร้าวไปยังแขน ข้อศอก ปลายนิ้วมือ และเกิดอาการชาที่แขน ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอยหรือลงมาบริเวณสะบักโดยความรู้สึกปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อต้องเคลื่อนไหวหรือต้องใช้แรง
  • ในระยะรุนแรงที่สุดของโรคกระดูกคอเสื่อมและเกิดการกดทับที่ไขสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะอ่อนแรงจนส่งผลกระทบต่อการขยับร่างกาย ผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียน การหยิบจับสิ่งของ รวมไปจนถึงการทรงตัวและการเดิน

กระดูกคอที่มีการเสื่อมบ่อยมากที่สุดเป็นกระดูกบริเวณไหน

กระดูกคอของมนุษย์มีทั้งหมด 7 ชิ้น เรียงต่อกันกับกะโหลกศีรษะโดยมีเส้นเอ็นต่าง ๆ ทำหน้าที่ยึดโยงกระดูกเข้าไว้ด้วยกันในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งจากข้อมูลพบว่ากระดูกคอที่เกิดการเสื่อมมากที่สุดเป็นกระดูกข้อที่ 5-6 และข้อที่ 6-7

อาการของโรคกระดูกคอข้อที่ 5-6 และ 6-7 เสื่อมสภาพ

เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกคอข้อที่ 5-6 และกระดูกคอข้อที่ 6-7 มักมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกปวดคอร้าวไปยังแขน และอาจปวดร้าวไปถึงแขนท่อนล่างจนถึงนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง
  •  ในกรณีที่เกิดภาวะกดทับไขสันหลังร่วมด้วยผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมแขน ขา มือ และเท้า ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวกเรื้อรังหลายปี มักเดินขากาง เดินโน้มตัวไปด้านหน้า และอาจลุกลามจนส่งผลให้ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง และต้องนั่งรถเข็นในท้ายที่สุด

การวินิจฉัยเพื่อรักษา โรคกระดูกคอเสื่อม

เมื่อผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะเริ่มขั้นตอนการรักษาด้วยการซักประวัติและสอบถามเกี่ยวกับอาการปวดเมื่อยตึงคอรวมไปจนถึงภาวะข้างเคียงอื่น ๆ โดยละเอียด หากวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมก็จะใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของกระดูกต้นคอด้วยการทำ MRI SCAN 

หากอาการของโรคอยู่ในขั้นต้นสามารถรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม งดการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เลือกโต๊ะทำงานที่ตอบโจทย์สรีระ หมั่นออกกำลังกายเสริมความสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหรือการทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ 

นอกไปจากนี้ยังสามารถรักษาอาการของโรคกระดูกคอเสื่อมด้วยการใช้ยาหรือการฉีดยาในระยะสั้น ๆ การใส่เครื่องช่วยพยุงคอในระยะสั้น ๆ เพื่อประคับประคองอาการให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเหล่านี้ก็อาจมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมด้วยการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนหินปูนหรือกระดูกงอกที่กดทับเส้นประสาทออกเพื่อช่วยรักษาอาการของโรคให้ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและขยับร่างกายได้ด้วยตนเอง

สรุป

โรคกระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่บริเวณกระดูกคอโดยพบการเสื่อมมากที่สุดเป็นกระดูกต้นคอข้อที่ 5-6 และข้อที่ 6-7 ส่งผลให้กระดูกคอทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยในระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตึงต้นคอ มีอาการคอติดที่เป็น ๆ หาย ๆ ต่อมาเมื่อเกิดการกดทับเส้นประสาทอาจทำให้เกิดการปวดร้าวและชาไปยังบริเวณอื่น ๆ เช่น แขน ข้อศอก มือและนิ้ว

ในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชาและมีปัญหาเกี่ยวกับการหยิบจับสิ่งของ การเดิน การทรงตัว และในขั้นรุนแรงที่สุดเมื่อเกิดการกดทับที่ไขสันหลังทำให้เกิดภาวะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ และทำให้ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเองในท้ายที่สุด หากสังเกตพบความผิดปกติของกระดูกคอ มีอาการปวดเมื่อยตึงคอหรือมีอาการปวดร้าวไปยังอวัยวะต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคกระดูกคอเสื่อมลุกลามใหญ่โตจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต.