น.ส.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า ได้ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี สำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล  ประจำปี 66 ของประเทศไทย ใน  4 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย  มีมูลค่ารวมที่ 2,024,173 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.88%  จากปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่าที่ 1,948,491 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เติบโต 12.80% มีมูลค่า 215,191 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล เติบโต 9.28% มีมูลค่า 307,630 ล้านบาท อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ เติบโต 1.75% มีมูลค่า 1,457,116 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เติบโต 0.01% มีมูลค่า 44,236 ล้านบาท

นอกจากนี้ได้คาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี (67-69) พบว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 9-10% อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตต่อเนื่อง 11-16% อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลจะโตประมาณ 13-14% และการเติบโตมีแนวโน้มที่จะลดลงในปี 69 ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะโตประมาณ 3-5% โดยในปี 69 ทั้ง 4 อุตสาหกรรมจะมีมูลค่ารวม 2,940,377 ล้านบาท การเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางขาขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างความตื่นตัวในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความต้องการซื้อที่สูงขึ้น

ด้าน นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในปี 66 เป็นผลมาจากการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น เอไอ, ดาต้า อนาลิติกส์, คลาว์ด, ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน และใช้เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นำไปสู่การพัฒนาองค์กร สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก  ขณะที่อุตฯ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ มีมูลค่า 1,457,116 ล้านบาท เติบโตเพียง  1.76% เป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก จนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์  และหากวิเคราะห์เชิงลึกจะพบว่า ความต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ในช่วงปี 66 เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว เนื่องจากรอบการซื้อที่ผ่านมากระจุกอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีปริมาณมาก