เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบุญและเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในวันสถาปนาสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ครบรอบ 39 ปี โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ อดีตนายกสภาทนายความฯ และบุคคลต่างๆ เข้าร่วมในพิธีที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม มีบทบาทสนับสนุนสภาทนายความ ในการปกป้องสิทธิและอํานวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมภายใต้ “หลักนิติธรรม” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นร่างเดียวกับสภาทนายความ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการ อาทิ คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ, คณะกรรมการ ป.ป.ส., คณะกรรมการราชทัณฑ์, คณะกรรมการคุมประพฤติ ฯลฯ ซึ่งจะมีผู้แทนจากสภาทนายความ ร่วมพิจารณาในประเด็นสำคัญต่างๆ รวมถึงตนในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ในฐานะ “สภานายกพิเศษ” ของสภาทนายความ ได้ร่วมประชุมสภาทนายความ จึงมีความผูกพันร่วมกันของทั้ง 2 องค์กร

กระทรวงยุติธรรม ยังได้สนับสนุนในเรื่องการของบประมาณแก่สภาทนายความ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จากปีงบประมาณ 66 วงเงิน 104 ล้านบาท ปีงบประมาณ 67 วงเงิน 134 ล้านบาท จนมาปีงบประมาณ 68 วงเงิน 158 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินมองได้ว่าเป็นเรื่องน้อยนิด เทียบไม่ได้กับการให้ความเป็นธรรม การทำหน้าที่ของสภาทนายความในการเป็น “เสาหลัก” ในกระบวนการยุติธรรม

สภาทนายความฯ จะเป็นเสาหลัก จากความเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงคิดว่าองค์กรแห่งนี้จะสามารถเข้าร่วมกันแก้ปัญหาความเป็นธรรมที่เหลื่อมล้ำที่มีอีกหลายเรื่องทับซ้อนกันอยู่ แม้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วอาจยังรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม อาทิ ความแออัดในเรือนจำซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน หรือ “เสียเสรีภาพ แต่ไม่เสียอุดมการณ์” ที่กระทรวงยุติธรรมพยายามแก้ไข ในสัดส่วน 2.5 ตารางเมตรต่อคนหรือประมาณ 2 แสนคน จากจำนวนผู้ต้องขังจริงที่เกินสัดส่วนไปประมาณ 1 แสนคน จึงมีออกกฎกระทรวงให้โรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นเรือนจำ ซึ่งจะใช้สำหรับคนเจ็บป่วย และอีกหนทาง คือ ที่คุมขังอื่น มีศักดิ์เท่ากับเรือนจำ เป็นสถานที่คุมขัง แต่ไม่ต้องการให้ถูกละเมิดสิทธิจากความแออัด และต้องการให้ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย

ด้วยจำนวน 77% จากผู้ต้องขังทั้งหมดกว่า 3 แสนคน ยังมีการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ ซึ่งจะมีผลต่อโอกาสกระทำผิดทางกฎหมายลดจำนวนลงอีกด้วย เรื่องเหล่านี้ต้องสร้างการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ถือเป็นโอกาสในสิ่งท้าทายที่กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความร่วมกันแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ