ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านมาบกราด ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พาไปดูดงองุ่นป่าหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ส้มโก่ย”  ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากหลายสิบต้น ภายในป่าท้ายหมู่บ้าน สร้างสีสันสวยงามให้กับผืนป่าหน้าฝนเป็นอย่างมาก  โดยเจ้าองุ่นป่า หรือส้มโก่ยนั้น เป็นผลไม้ป่าที่พบได้ทั่วไปในป่าแถบนี้ มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย รวมถึงมีใบและผลเป็นพวงคล้ายกับองุ่นทั่วไปอย่างมาก ตอนดิบจะมีสีเขียวอ่อน เริ่มห่ามจะมีสีแดง และเมื่อสุกงอมจะเป็นสีม่วง  ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยนิยมนำไปบริโภค เนื่องจากมีรสชาติเปรี้ยวและระคายคอ  แต่ส่วนหนึ่งก็นิยมนำมาตำผสมกับกล้วยดิบ หรือหัวปลี ที่มีความฝาด ปรุงแบบส้มตำ เพื่อให้ความฝาดลดความคันลง ทำให้สามารถรับประทานได้เป็นปกติ

โดยนายเพลิน อุ้ยกระโทก ผู้ใหญ่บ้านมาบกราด บอกว่า องุ่นป่า หรือ ส้มโก่ย นั้น  จะแตกยอดออกมาในช่วงหน้าฝน แล้วก็จะเลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้ ออกลูกช่วงกลางหน้าฝน และจะสุกในช่วงปลายฝน และลำต้นก็จะแห้งตายลงเหลือไว้เพียงรากในดิน แล้วก็จะแตกยอดขึ้นในหน้าฝนใหม่   ซึ่งลูกส้มโก่ยนั้น จะมีรสชาติเปรี้ยวมากในช่วงดิบ แต่จะเริ่มออกหวานในตอนสุก ชาวบ้านนิยมนำเอาลูกห่ามไปตำแบบส้มตำ  แต่ต้องนำไปตำรวมกับกล้วยดิบ หรือหัวปลี ที่มีรสฝาด เพื่อให้ความคันของส้มโก่ยหายไป ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่สืบทอดต่อกันมา รสชาติก็จะออกเปรี้ยวนำทำให้น้ำลายสอ สร้างความสดชื่นให้กับร่างกาย

สำหรับองุ่นป่า หรือส้มโก่ยนั้น  เชื่อว่ามีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น  ลดความดันและไขมันในเลือด มีวิตามินซีสูง ช่วยลดความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงหัวใจ ร่างกายสดชื่น เป็นต้น  และยังสามารถนำไปดอง แช่อิ่ม หรือทำไวน์ ได้อีกด้วย