SX TALK SERIES ครั้งที่ 6 เวทีเสวนาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองข้อมูลด้านความยั่งยืนในครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านไป ก่อนมุ่งสู่ Sustainability Expo 2024 (SX2024) โดยนำเรื่องราว Upcycling จัดเสวนา “Upcycling Waste “ชุบชีวิตขยะ เปลี่ยนโลก” โดยมี 3 วิทยากรชั้นนำด้านการ Upcycling คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ และคุณสมภพ มาจิสวาลา แชร์พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรที่มีค่า และแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆ รักษ์โลกอย่างยั่งยืน ณ C asean Samyan CO-OP สามย่านมิตรทาวน์

“จากขยะสู่ศิลปะการ Upcycle และ Regenative Art เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยประเด็นดังกล่าว วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ให้มุมมองว่า การสร้างงานศิลปะต้องคำนึงถึงที่มาที่ไป ต้องคิดนับแต่ต้นทางในการออกแบบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างขยะเต็มไปหมด

“ปัจจุบันใช้แนวคิดเรื่องของการ Regenative Art and Design ซึ่งไม่ใช่แค่การ Upcycle อย่างเดียว แต่ต้องฟื้นฟู และมองให้ลึกรอบด้านว่าจะทำอย่างไรให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นให้ได้ นอกจากนี้ยังเน้นการทำงานให้ตอบโจทย์เรื่อง 3P คือ People มีการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เขาได้เรียนรู้ไปด้วยกันว่าตั้งแต่การคัดแยกขยะรวมไปถึงการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน

Profit ทุกงานจะมีการทำซํ้าเรื่อย ๆ ไม่ใช่จบโปรเจกต์แล้วหายไปจากชุมชน แต่คือการพัฒนาชุมชนไปด้วยกันกับการทำงานศิลปะร่วมกันกับเรา และ Planet ปัจจุบันมีการรวบรวมขยะกว่า 40 ประเภท และหมุนเวียนไปได้แล้วกว่า 30,000 กว่ากิโลกรัม อยากฝากข้อคิดกับทุกคนว่า โลกของเรามีเพียงแค่ใบเดียว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้ มัวแต่คิดเราคงทำไม่ได้หรอกต้องให้คนอื่นทำ มันก็คงจะกลายเป็นสิ่งที่อาจจะช้าเกินไปหรือสายเกินไป ทุกคนสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ขณะที่ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualyกล่าวอีกว่า ศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์สามารถพาเราไปได้ไกลมากกว่าที่คิด เราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อโลกที่ยั่งยืนได้ และสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้ผลิตและผู้บริโภคในการมีความรับผิดชอบ ถ้าทุกคนรับผิดชอบคนละนิด ก็จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

“วัสดุที่เรานำมาใช้ผลิตสินค้าก็เป็นของที่เห็นในชีวิตประจำวันที่ถูกใช้แล้วทิ้งอยู่ทุก ๆ วัน แบรนด์ Qualy เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคส่งขยะที่บริโภคและทำความสะอาดแล้วส่งมาให้เรา หรือการเข้าไปหาชุมชนที่ทำโครงการต่าง ๆ เพื่อนำขยะพลาสติกมาทำงานโดยร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ที่รณรงค์ ทั้งสร้างการรับรู้สิ่งที่บริโภคแต่ละวัน เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร บอกเล่าผ่านบรรจุภัณฑ์ของเรา”

การที่เราใช้ไอเดียจะขยายความคิดของเราไปสู่ความยั่งยืนได้มาก อยากให้ทุกคนอย่าคิดว่าเราทำเพื่อความยั่งยืนนิดหน่อยจะไม่มีผล ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งเรื่องการทำลาย เรื่องของการสร้างสรรค์ มันเกิดจากการที่เราละเลยคนละนิดละหน่อย แต่จำนวนคนเยอะก็เลย Impact ถ้าทุกคนจะทำธุรกิจ ทำอาชีพทำกิจกรรมการบริโภคหรืออะไรต่าง ๆ ก็ขอให้นึกถึงความยั่งยืนลองคิดว่าเป็นส่วนหนึ่ง ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนไปด้วยกันได้.