เมื่อวันที่ 10 ก.ย. หลังรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มการบริหารประเทศโดย รัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” มีนโยบายเร่งด่วนหลายเรื่องที่เป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กับการผลักดันนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท มีเสียงสะท้อนจากกลุ่มแรงงานตัดอ้อย ที่กำลังเริ่มฤดูกาลตัดอ้อยประจำปี 2567/68 ช่วงปลายปีนี้

ที่ ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีกลุ่มแรงงานตัดอ้อย 12 คน ที่เดินทางมาจากภูมิลำเนาบ้านเกิด อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ มารับจ้างตัดอ้อยสดให้กับเจ้าของไร่อ้อย เพื่อเป็นอ้อยพันธุ์สำหรับไปใช้ลงแปลงปลูกเป็นอ้อยข้ามปี (ฤดูเก็บเกี่ยวปกติช่วงพฤศจิกายน 2567-มีนาคม 2568) โดยแรงงานกลุ่มนี้มากันเป็นครอบครัว ปักหลักอยู่ในที่พักคนงานที่นายจ้างจัดหาไว้รองรับ แล้วออกทำงานรับจ้างรายวันตามที่นายจ้างจะหางานให้ทำ เพื่อรอฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อยประจำปีในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ บางครอบครัวต้องพาลูกน้อย หอบกระเตงมาเลี้ยงดูกลางไร่อ้อยด้วย

น.ส.อ้อย การเพียร อายุ 48 ปี กล่าวว่า ทำงานรับค่าแรงรายวัน 300 บาท ยอมรับว่าแทบไม่พอกิน เพราะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ทั้งค่ากับข้าว ค่าน้ำ ค่าข้าวของเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดหลายอย่าง ทำงานตั้งแต่ 08.00-17.00 น. งานหนักและเหนื่อย อยากให้รัฐบาลช่วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เสียที เพราะพวกเราอดทนสู้งานหนักรับค่าแรง 300 บาท มาตลอดปีตลอดชาติ ยิ่งปีที่แล้วราคาอ้อยดี ตันละ 1,420 บาท สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ค่าแรงของคนงานยัง 300 บาทเท่าเดิม วันนี้ยังรอคอยความหวังค่าแรง 400 บาท หรือหากไม่ได้จริง ขอขึ้นเป็น 350 บาท ก็ยังดี

นายโยธิน ร่มเย็น อายุ 37 ปี บอกว่า รับค่าจ้างรายวัน วันละ 300 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายรายวัน วันละ 100-200 บาท ค่าน้ำแข็ง ค่ากับข้าว แทบไม่พอเหลือเงินเก็บ แต่ก็ต้องฝืนใจทำอดทนทำงานเพราะไม่มีที่ไป ถ้าไม่ทำก็ไม่มีจะกิน จึงอยากวิงวอนนายจ้างหรือรัฐบาลขึ้นค่าแรงรายวัน 400 บาทขึ้นไป พอให้ผู้ใช้แรงงานมีกำลังใจสู้ต่อ มีเงินใช้ มีเงินเหลือเก็บเลี้ยงครอบครัวบ้าง

ขณะเดียวกัน แรงงานตัดอ้อย ยังมีทางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง คือ ตัดอ้อยสดแบบเหมาแล้วแต่ใครจะตัดได้มากน้อย ในอัตรามัดละ 3 บาท (1 มัดเท่ากับอ้อย 12 ลำ) ปกติคนงานในกลุ่มชายฉกรรจ์มักเลือกตัดอ้อยเหมา เพราะร่างกายแข็งแรง ทำงานได้มาก เคยตัดได้สูงสุด 150 มัดต่อวัน หรือต้องตัดอ้อยสดจำนวน 1,800 ลำ จะได้ค่าแรง 450 บาท.