จากกรณีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ต.บางกุ้ง อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 67 ทำให้มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี กว่าสองพันคน ต้องหยุดเรียนกลางคัน

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จัดการและส่งเสริมการศึกษา การปิดศูนย์การศึกษาจะทำให้เด็กตกหล่นจากการศึกษา โดยเฉพาะกรณีช่วงปลายเดือน ส.ค. 67 ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอการเข้าแถวช่วงเช้าเคารพธงชาติของสถานศึกษา มีการร้องเพลงชาติพม่าต่อจากการร้องเพลงชาติไทย เป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการด่วน ให้ทุกจังหวัดเร่งตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นสถานที่เกิดเหตุตามคลิป ซึ่งนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที ต่อมาสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีคำสั่งในวันที่ 4 ก.ย. 67 ให้ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ใน อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ยุติกิจการ โดยเห็นว่าเป็นการตั้งโรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งครูผู้สอนชาวพม่า 24 คน ครูคนไทย 6 คน รวมถึงครูใหญ่และเจ้าของสถานที่ที่ให้เช่าเปิดเป็นศูนย์การเรียน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีออกมาเน้นย้ำ ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีการเปิดศูนย์การเรียนอีก โดยในสุราษฎร์ธานีมีศูนย์การเรียนของชาวพม่า 6 แห่งได้ปิดกิจการทั้งหมดแล้ว จึงอยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ หาทางออกปัญหาเด็กนักเรียนข้ามชาติ เมื่อปิดศูนย์ฯ ก็ต้องหาทางรองรับสถานที่เรียนให้เด็กๆ เช่นกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะมีเด็กนักเรียนอยู่กว่า 1,100 คน เด็กเหล่านี้เป็นลูกของชาวพม่าที่เป็นแรงงานข้ามชาติและเป็นผู้ลี้ภัยอพยพหนีภัยสงครามจากพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการสู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับทหารพม่ารุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จำนวนนับแสนคน ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วยหลายหมื่นคน พร้อมกับการสั่งปิดศูนย์การเรียนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 67 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งข้อความถอนข้อสงวนข้อ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นการประกาศว่าประเทศไทยจะดูแลและคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยตามสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งการให้การศึกษาแก่เด็กเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็น

นักวิชาการ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2540 ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เรื่องการศึกษา ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่จะให้การศึกษาต่อเด็กทุกคน ตลอดจนมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 ก.ค. 2548 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ที่รับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรวมถึงลูกหลานของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยเข้าเรียนในสถานศึกษา และสามารถเรียนถึงระดับสูงสุดคือปริญญาเอก ตามหลัก Education for all ทั้งสนับสนุนการเรียนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว เช่น อาหารกลางวัน ค่าเล่าเรียน ที่เรียกกันว่า เรียนฟรี 15 ปี จนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้จะมีนโยบายและระเบียบกฎหมายที่ดี แต่ขาดการสนับสนุนและติดตามบังคับอย่างจริงจัง ทำให้มีสถานศึกษาจำนวนมากไม่รับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน จนทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นต้องจัดการศึกษากันเองในรูปแบบศูนย์การเรียน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการควรเรียนรู้จากในปี 2562 จ.ระนอง ได้ปิดศูนย์การเรียน 10 ศูนย์การเรียนในจังหวัดระนอง ส่งผลให้เด็กกว่า 3,000 คน ต้องออกจากระบบการศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก จนต่อมาต้องผ่อนปรนให้สามารถมีศูนย์การเรียนใน จ.ระนอง ได้ ปัจจุบันจากข้อมูลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติพบว่า ในเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งเปิดเทอมเรียนแล้ว มีศูนย์การเรียนในประเทศไทยอย่างน้อย 78 แห่ง ใน 9 จังหวัด มีจำนวนนักเรียน 23,090 คน

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้เสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องกำชับสถานศึกษาทั่วประเทศให้รับเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาโดยไม่มีการยกเว้น เพราะพบว่ามีสถานศึกษาจำนวนมากไม่ยอมรับเด็กเหล่านี้เข้าเรียน รวมทั้งลงโทษสถานศึกษาที่พบว่าไม่รับเด็กเหล่านี้เข้าเรียน ซึ่งบางแห่ง เช่น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 จังหวัดตาก กลับออกประกาศไม่ให้สถานศึกษารับเด็กลูกผู้ลี้ภัย เด็กที่เข้าเมืองไม่ถูกต้อง และเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนเข้าเรียนในสถานศึกษา ขณะเดียวกันต้องเข้ามาส่งเสริมการศึกษาที่จัดกันเองในรูปแบบศูนย์การเรียน เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์จากการศึกษาและการพัฒนาสูงสุด ซึ่งศูนย์การเรียนจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการศึกษาให้กับทางกระทรวงศึกษาธิการที่มีบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากรจำกัด

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพัฒนาจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเข้ามารับผิดชอบเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา ตลอดจนทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือ กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จัดการและส่งเสริมการศึกษาให้แก่ทุกคน ไม่ได้มีหน้าที่ทำลาย ปิดกั้นทางการศึกษา ดังที่เด็กกว่า 1,100 คนที่สุราษฎร์ธานีได้รับ และการให้การศึกษาเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ ในทางตรงกันข้าม การปิดกั้นหรือทำลายการศึกษาต่างหากที่เป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ.