เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติให้ความเห็นชอบ

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุม กรณีการขาดดุลงบประมาณ และการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ เตรียมปรับปรุงแผนงานการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพ คาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถดึงคนเข้าสู่ระบบฐานภาษี เพื่อมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารประเทศ เช่น ปี 2567 จัดเก็บพลาดเป้าของกรมสรรพสามิตหลายหมื่นล้าน หลังมีนโยบายราคาพลังงาน แต่อีก 1 เดือนก่อนที่จะหมดปีงบประมาณ มั่นใจว่าภาพรวมจะไม่พลาดเป้า และปี 2568 เชื่อมั่นด้วยประสิทธิภาพของกระทรวงการคลัง ในการดำเนินการจัดเก็บรายได้ จะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนการขาดดุลงบประมาณ ยืนยันว่าประเทศไทยที่กำลังพัฒนา ยังจำเป็นต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลทางการคลังไปก่อนในระยะสั้น จนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ และขยับเข้าสู่การทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะต่อไป โดยมีแผนการจัดทำงบประมาณให้ขาดดุลลดลงตั้งแต่ปี 2571 เหลือร้อยละ 3.1 และชี้แจงว่าการกู้เงิน หนี้สาธารณะ ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ที่เพียงพอ ซึ่งกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่ที่ร้อยละ 70 โดยงบประมาณปี 2566 อยู่ที่ ร้อยละ 63

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า ขณะที่รายจ่ายประจำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลมีแผนลดกำลังพลและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยเหลือ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช้แอปทางรัฐ ที่จะสามารถให้บริการประชาชนได้หลายมิติ นอกจากทำดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งในอนาคตสามารถลดกำลังพลที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละภาคส่วนตามลำดับ ซึ่งการปฏิรูประบบราชการก็เป็นแหล่งนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่จะแถลงต่อรัฐสภา

“ยืนยันว่าการแถลงนโยบายวันที่ 12 ก.ย. นี้ จะได้พูดคุยในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขอย้ำว่าโครงการนี้ยังอยู่ แต่รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนงบประมาณบางส่วน เพื่อไปช่วยในกลุ่มเปราะบาง และเป็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และการโยกงบธนาคารรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ยังคงเป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง แต่การปรับเปลี่ยนบางส่วนเป็นความพร้อมใจของหน่วยงาน เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเม็ดเงินไปทำนโยบายอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ บางส่วนก็จะเปลี่ยน แต่ในโครงการที่จะต้องทำโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลยังอยู่ และยังคงเดินหน้า” นายจุลพันธ์ กล่าว.