เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเสร็จ ภายหลังจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว สว. ได้ทยอยอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. อภิปรายว่า ทางเลือกการลงทุนภาครัฐ 1 ใน 5 ของรายจ่ายลงทุนลงไปกับแค่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าการใช้งบประมาณมหาศาลในการทำนโยบายเช่นนี้ การแจกปลาให้ประชาชนทำให้กินอิ่มเพียงมื้อหรือสองมื้อแล้วก็หมดไป หากจะดีกว่า ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะทำงบประมาณหลายแสนล้านบาทไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ประเทศเป็นการสร้างธุรกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ และให้ประชาชนสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกว่าการแจกเงินเพียงอย่างเดียว และให้ข้อสรุปในข้อสังเกตงบประมาณปี 2568 ว่าเหตุใดค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแต่ไม่มีแผนแก้ไขที่จริงจัง การลงทุนโครงการระยะสั้น มากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน การทำงบประมาณเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เข้าใจความจริงว่าระยะทำงานของรัฐบาลแต่ละชุดเต็มที่ 4 ปี เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญของผู้บริหาร ที่จะตัดสินใจในโครงการเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคตระยะยาว มากกว่าใช้เงินกับนโยบายที่เห็นผลระยะสั้น เพื่อให้ได้คะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น

นางอังคณา นีละไพจิตร สว. อภิปรายว่า มีนโยบายบางอย่าง ที่ยังจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรม และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล คือการจัดทำนโยบายที่สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดแผนฉบับที่ 5 ใช้ปี 2566 ถึง 2570 ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งงบประมาณในปี 2568 มีบางกระทรวงที่จัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม แต่หน่วยงานอื่นไม่ได้จัดทำแผนสอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างกระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 90,000 ล้านบาท แต่ถูกใช้ส่วนใหญ่กับงานด้านความมั่นคง และอ้างอิงจากรายงาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากมีคำร้องต่อกรรมการสิทธิและผู้ตรวจการแผ่นดิน และการจัดสรรงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ ความจำเป็นที่ต้องการแตกต่างของเพศวัยและสภาพของบุคคล และหวังว่าในการจัดทำงบประมาณปีต่อไป จะให้หน่วยงานทุกหน่วยจัดงบประมาณที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและแผนสิทธิมนุษยชน

นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. อภิปรายถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขที่จะนำไปใช้จัดหาเครื่องหมายเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค เพื่อนำไปรักษาประชาชน จึงหวังว่าให้รัฐบาลพิจารณาในปี 2569 โดยจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยอย่างที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยพูดเอาไว้ว่า “ให้มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมๆ กัน”

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบ 5 ประเด็น 1.ในสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้มองว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ควรจัดสรรงบประมาณทุ่มไปกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและซอฟต์พาวเวอร์ ไปจนหมดหน้าตัก 2. งบบุคลากรค่าใช้จ่ายประจำเป็นภาระของกระทรวงการคลัง ร้อยละ 62 จากจำนวนบุคลากรภาครัฐ 3.3 ล้านคน ทำให้ไม่มีงบประมาณเหลือไปฟื้นฟูประเทศ 3.ตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐทั้งระบบ 4.งบประมาณมาจากเงินภาษีประชาชน วุฒิสภาจะต้องทำตามความประสงค์ให้ภาษีของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด คาดหวังว่ากระบวนการจัดทำงบประมาณที่ประชาชนมีส่วนร่วม เลิกทำงบประมาณแบบไม่เห็นหัวประชาชน และ 5.ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและคุณภาพทางการศึกษาของไทย.