ที่ห้างศรีพงษ์พาร์ค อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการร่วมกันเปิดงานมหกรรมความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนจังหวัดอุตรดิตถ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “อุตรดิตถ์ติด 0” เพื่อเป็นอีกกลไกในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ในการลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด โดยการแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ถือเป็นก้าวแรกของจังหวัด ที่จะเดินหน้ามุ่งเน้นการสัญจรอย่างปลอดภัย เพราะสิ่งสำคัญในการใช้รถใช้ถนน คือ ความมีสติ และไม่ประมาท โดยมี นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม

ปัญหาการสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชน จากอุบัติเหตุทางถนนทั้งประเทศในแต่ละปีมีจำนวนที่สูงมาก ในปี พ.ศ. 2566 จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผู้เสียชีวิต 120 ราย ปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมนั่งท้ายกระบะ ตัดหน้ากระชั้นชิด หลับใน ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถย้อนศร ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ยานพาหนะที่เกิดเหตุ ได้แก่ รถเก๋ง รถปิกอัพ รถตู้สาธารณะ และรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ถนนที่เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ได้แก่ ถนนกรมทางหลวง และถนนในเขตเมือง (เทศบาล) ส่วนใหญ่เกิดบริเวณทางแยก จุดกลับรถ และช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น คือ ช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี อายุ 40-49 ปี และ อายุ 60-70 ปี ทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ/พิการ ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณ รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ การลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดมีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ สถิติการเกิดอุบัติเหตุของจังหวัดยังคงมีเพิ่มมากขึ้นในทุกปี

ทั้งนี้ ปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนน ได้แก่ “คน” “รถ” “ถนน” และตั้งแต่นี้ไป จังหวัดอุตรดิตถ์จะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “การสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” โดยเน้นการจัดการความเสี่ยงอย่างจริง เร่งด่วน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคน และยานพาหนะที่มีความเสี่ยงสูง ปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อต่อการสัญจรทุกรูปแบบอย่างยั่งยืน ทั้งการสัญจรที่ใช้ยานยนต์และไม่ใช้ยานยนต์ พร้อมทั้งสร้างรากฐานการทำงานด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เมื่อการดำเนินการทั้งสามมาตรการได้ดำเนินการควบคู่กัน จะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการและผู้เสียชีวิตลดจำนวนลงจนถึงไม่เกิดขึ้นเลย