ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชชัพ ชีระชลสุข สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เขต 2 อำเภอครบุรี และนายอมรวัฒน์ โสบกระโทก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ นำประชาชนจิตอาสา ประมาณ 20 คน ช่วยกันทำความสะอาดและปรับสภาพภูมิทัศน์ลานหินที่อยู่บริเวณปากทางเข้าวัดเข้าถ้ำเต่าพันปี ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อเตรียมผลักดันให้กลายอันซีนแห่งใหม่ของอำเภอครบุรี และจังหวัดนครราชสีมา ภายหลังจากที่ตรวจสอบพบว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ มีลักษณะพิเศษ คือพื้นเป็นลานหินทรายขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ พื้นหินนั้นมีสภาพถูกธรรมชาติกัดกร่อนจนเกิดเป็นลวดลายคล้ายลักษณะของคลื่นน้ำที่กลายเป็นหิน หรือทะเลหิน และแตกลายคล้ายกระดองเต่าไปทั่วบริเวณ สวยงามอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีหลุมหินขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า โบก ลึกกว่า 1 เมตร กระจายอยู่บริเวณลานหินมากกว่า 10 จุด ที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากให้กับผู้ที่พบเห็น
โดยนายสุชชัพ ชีระชลสุข สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า บริเวณลานหินดังกล่าวนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่และชาวบ้านในพื้นที่หลายคนเรียกกันว่า “เดิ่นหินดาด” เนื่องมีสภาพเป็นลานหินขนาดใหญ่ ซึ่ง “เดิ่น” นั้น เป็นภาษาโคราช หมายถึง “ลาน” ขณะที่คำว่า “ดาด” ก็จะมีความหมายในลักษณะที่ร่างกายถูกสิ่งของที่มีความร้อน เมื่อรวมกันก็จะมีความหมายว่า “ลานหินร้อน“ ซึ่งบ้านที่ทำมาหากินอยู่บริเวณนี้ ก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะลานหินแห่งนี้ยามฝนตก จะมีน้ำขังอยู่ตามโบกหรือหลุมหินต่างๆ พอให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำบริเวณนี้ระหว่างที่เข้าพื้นที่มาทำการเกษตร เพราะก่อนหน้านี้ชุมชนอยู่ค่อนข้างไกลจากจุดนี้พอสมควร และมาถึงทุกวันนี้ ก็เริ่มมีผู้คนที่ผ่านมาพบ และมองเห็นความสวยงามไม่ว่าจะเป็นลวดลายของลานหินที่มีความสวยงาม คล้ายกับคลื่นน้ำที่กลายเป็นหิน รวมถึงยังมีหลุมหินขนาดใหญ่กระจายอยู่เกือบ 20 หลุม มองดูน่าอัศจรรย์ จึงทำให้มีแนวคิดร่วมกันระหว่างภาคประชาชน อาสาสมัคร และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ที่ต้องการผลักดันจุดนี้ให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอครบุรี เพิ่มอีก 1 จุด จึงได้รวมกำลังเริ่มต้นทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์ เพิ่มความสวยงามให้กับพื้นที่ “เดิ่นหินดาด” และให้การเข้าถึงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนการพัฒนาในขั้นต่อไป ก็จะมีการประสานกับหน่วยงานที่มีความชำนาญเข้ามาตรวจสอบเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ เพื่อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะสามารถให้องค์ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมจุดนี้อีกได้ด้วย เพราะเชื่อว่าลักษณะลานหินที่มีความสวยงามและแปลกประหลาดเช่นนี้ น่าจะมีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยาบ้าง ไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ จากการประสานงานส่งรูปถ่าย เดิ่นหินดาด ให้ทาง รศ.ดร.อานิสงส์ จิตนารินทร์ อาจารย์ประจำวิชาเทคโนโลยีธรณี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับคำอธิบายโดยสังเขปว่า ลานหินทรายที่พบมีสภาพดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากกระบวนการผุพังอยู่กับที่ (weathering) ที่เกิดกับหินทราย เมื่อหินทรายโผล่บริเวณพื้นผิวโลก เผชิญกับน้ำและอากาศ จะเกิดการผุพังตามธรรมชาติ ลักษณะเช่นนี้พบได้ทั่วไปบนภูเขาหินทรายในภาคอีสาน ลักษณะดังภาพเกิดจากการผุพังทางเคมี คาดว่าหินทรายบริเวณนี้ อาจมีสารเชื่อมประสานเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ที่ทำให้เกิดการละลายน้ำ แต่การผุพังเกิดขึ้นไม่เท่ากัน และอาจเกิดเนื่องจากในชั้นหินทรายมีโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ จึงเห็นการผุพังเป็นริ้ว ๆ ส่วนหลุมน่าจะเกิดจากการผุพังเชิงกล ซึ่งครั้งหนึ่งอาจมีธารน้ำไหลผ่านบริเวณนี้ เม็ดกรวดอาจหลุดเข้าไปในรอยแตก หรือรอยเว้าของหินบริเวณท้องน้ำ กระแสน้ำทำให้เม็ดกรวดทรายขัดสีจนกลายเป็นหลุม คล้ายการเกิดโบก
สำหรับ “เดิ่นหินดาด” นั้น อยู่ห่างจากตัวอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา ไปทางด้านทิศใต้ ประมาณ 7 กิโลเมตรเท่านั้น ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าวัดเขาถ้ำเต่าพันปี ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินที่ทางผู้มีจิตศรัทธามอบให้ทางวัดเป็นผู้ดูแลอยู่ในขณะนี้ หากผู้ใดที่สนใจต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว สามารถค้นหาเส้นทางผ่นทางแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยการค้นหา “วัดเขาถ้ำเต่าพันปี”