ได้ทำการวิจัยการแข่งขันในตลาดสถานีบริการชาร์จฯ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผลวิจัยพบว่า ภาพรวมรูปแบบทางธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการชาร์จฯ ของไทย แบ่งตามเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีการให้บริการ 2 ประเภท คือ การชาร์จแบบธรรมดา (AC Normal charge) และการชาร์จแบบเร็ว (DC Quick/Fast charge) และการดำเนินการเพื่อประกอบธุรกิจสถานีบริการชาร์จฯ ต้องขออนุญาตการประกอบกิจการดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน

กระจุกตัวกรุงเทพฯ–ปริมณฑล

สำหรับการกระจายสถานีบริการชาร์จฯ นั้นยังไม่สม่ำเสมอ อาจเพราะความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญต่อการที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และสะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจเลือกลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดดังกล่าวยังมีความกระจุกตัวในเชิงพื้นที่ค่อนข้างสูง โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสถานีบริการชาร์จฯ ที่หลากหลายแบรนด์มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในเชิงพื้นที่ระดับภูมิภาค เนื่องจากความต้องการใช้บริการสถานีบริการชาร์จฯ ในเขตดังกล่าวมีความหนาแน่นที่มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ จึงส่งผลต่อแรงจูงใจในการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนการกำหนดค่าบริการสถานีบริการชาร์จฯ จะถูกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)       

เปิดพฤติกรรมกระทบการแข่งขัน

TCCT ประเมินพฤติกรรมที่อาจมีแนวโน้มเข้าข่ายความผิดและ/หรือขัดแย้งต่อกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ดังนี้ การผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือ พบว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่บางรายที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดหนึ่งสามารถถ่ายโอนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการแข่งขันมายังอีกตลาดหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการสถานีบริการนํ้ามันที่มีจำนวนสถานีครอบคลุมทั่วทั้งประเทศสามารถเพิ่มการให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผนวกเข้ากับสถานีดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจัดหาสถานที่ใหม่เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ตลาด

นอกจากนี้อาจมีกรณีผู้เล่นบางรายที่ได้รับสัมปทานพื้นที่จุดพักบนเส้นทางด่วนรายเดิมที่อาจได้เปรียบมากกว่าผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่ต้องการเข้าสู่ตลาด ต่อมาคือ การตกลงร่วมกันหรือลดการแข่งขัน เมื่อพิจารณาในบริบทของตลาดบริการสถานีบริการชาร์จฯ สามารถประเมินความเสี่ยงการเกิดพฤติกรรมที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวได้ว่าในการจัดตั้งสถานีบริการชาร์จฯ สำหรับการเดินทางระยะไกลหรือการเดินทางข้ามเมือง

อาจมีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการชาร์จฯ (บริษัท) ได้ โดยบริษัทต่าง ๆ สามารถสร้างการผูกขาดในพื้นที่ที่กลุ่มพันธมิตรร่วมกันกำหนดหรือจัดสรรอาณาเขตพื้นที่สำหรับการสร้างสถานีบริการชาร์จฯ ทั่วประเทศ  คือ สถานีชาร์จฯ ในพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยบริษัทเพียงรายเดียวจากความตกลงร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจนั้นจะสามารถควบคุมราคาได้ในท้ายที่สุด เพราะผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าขับรถเข้าไปในพื้นที่ห่างไกลจะถูกบังคับให้ต้องใช้บริการต่าง ๆ เมื่อต้องการเติมพลังงานต่อไป

เสี่ยงผูกขาดลดการแข่งขัน

ทั้งนี้หากพิจารณาเพิ่มเติมกรณีการเกิดพฤติกรรมข้างต้นในประเทศไทยอาจจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 54 (4) การกำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย หรือลดการจำหน่าย หรือซื้อสินค้าหรือบริการ ได้ในท้องที่นั้น หรือกำหนดผู้ซื้อหรือผู้ขายที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่ซื้อหรือจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด พ.ศ. 2561 ข้อ 8 (4) (ก) การกำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย หรือลดการจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการได้ในท้องที่นั้น ประเด็นสุดท้ายคือ การควบรวมกิจการ/รวมธุรกิจในตลาด

อาจกล่าวได้ว่ามีแนวโน้มที่ผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการชาร์จฯ บางรายที่มีศักยภาพมากพอ หรือบริษัทใหญ่ จะตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการชาร์จฯ ที่มีขนาดเล็กกว่า การควบรวมธุรกิจข้างต้นแม้จะไม่ส่งผลต่อการลดการแข่งขันทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญมากนัก แต่อาจเป็นการลดภัยคุกคามที่จะมีผู้แข่งรายสำคัญ ๆ ในตลาดได้ ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบธุรกิจเหลือเพียงไม่กี่รายที่ยังคงดำเนินการ อาจมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้นจนสามารถครอบงำตลาดได้ในท้ายที่สุด

แนะทางออกป้องกันครอบงำ

ในส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับตลาดสถานีบริการชาร์จฯ ภายใต้ข้อกังวลด้านการแข่งขันทางการค้า สามารถสรุปโดยสังเขปว่า บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ตลาดดังกล่าว เกิดการแข่งขันทางการค้า ดังนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการเส้นทางพิเศษยกระดับในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ควรพิจารณาการให้สัมปทานทางด่วนสำหรับผู้รับสัมปทานที่หลากหลาย หน่วยธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน กรมทางหลวง (ทล.) ผู้รับผิดชอบทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ควรพิจารณาเอกชนร่วมทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ผ่านการระบุขอบเขต ข้อกำหนดโครงการร่วมทุนในประเด็นเชิงการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ๆ สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจจุดพักรถบนเส้นทางด่วนหรือเส้นทางมอเตอร์เวย์ได้อย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งตลาดสถานีบริการชาร์จฯ ที่ติดตั้งในจุดพักรถบนเส้นทางด่วนหรือเส้นทางมอเตอร์เวย์ เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรได้

นอกจากนี้ ทางกพท. และทล. ควรมีแนวทางนโยบายในการจัดสรรพื้นที่สำหรับธุรกิจ สถานีบริการชาร์จฯ เพิ่มเติม เนื่องจากในสัญญาภายใต้การสัมปทานเดิมอาจคำนึงถึงเพียงการก่อสร้างและบริหารทางพิเศษ อาจยังไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ณ จุดพักรถบนทางด่วน เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานีบริการนํ้ามัน สถานีบริการชาร์จฯ เป็นต้น ตลอดจนการประเมินความเหมาะสมของระยะเวลาสัญญาที่ให้กับผู้สัมปทานด้วยเช่นกัน

ส่วน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ควรมีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนหัวจ่าย และเทคโนโลยีแต่ละหัวจ่ายให้บริการชาร์จฯ รวมไปถึงเก็บข้อมูลเครื่องหมายการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจจดแจ้งการเปิดสถานีบริการชาร์จฯ เพื่อให้ทราบถึงสภาพการแข่งขันในตลาดที่แท้จริงว่าผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือมีรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์รายใดที่อยู่ในตลาด

นอกจากนี้ทาง สำนักงาน กกพ. ควรเข้ามาตรวจสอบกระบวนการขออัตราค่าไฟฟ้า สำหรับสถานีบริการชาร์จฯ ที่เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบจนอาจเกิดความได้เปรียบ เชิงเปรียบเทียบแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่ง ในขณะที่รายอื่น ๆ อาจต้องแบกรับต้นทุนค่าความต้องการพลังงานจำนวนมาก เนื่องจากยังไม่ผ่านการตรวจสอบตามกระบวนการขออัตราค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจดังกล่าว และสำนักงาน กขค. ควรติดตามและเฝ้าระวังตลาดสถานีบริการชาร์จฯ ในลักษณะเชิงคุณภาพของประสิทธิภาพในการใช้สถานีบริการชาร์จฯ ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น ความพึงพอใจในการใช้บริการสถานีบริการชาร์จฯ ของผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดที่ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบธุรกิจให้บริการในตลาดรายอื่น ๆ และความไม่สม่ำเสมอของการกระจายตัวในการติดตั้งสถานีบริการชาร์จฯ ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาด เป็นต้น.

Electric car charging at station

ผู้เล่นตลาดชาร์จอีวี 4 กลุ่ม

ปัจจุบันมีผู้เล่นสำคัญในตลาดสถานีบริการชาร์จฯ ไทยมี 4 กลุ่มหลัก 
1. ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 
2. ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในตลาดอื่น ๆ เช่น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด และบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด บริษัท พลังงาน มหานคร จำกัด บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เป็นต้น  
3. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า เช่น บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ -ซีพี จำกัด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น 
4. ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่หรือมีสถานะเป็นสตาร์ทอัพ เช่น บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัท จีโอไนน์ ซอฟต์แวร์ จำกัด