ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณห้องประชุม สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท  นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร และ นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำรับมือพายุยางิ ที่จะพัดเข้าสู่ประเทศไทย

นายวัชระ  ไกรสัย  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า สำหรับเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ที่รับน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ทางด้านตอนบนของประเทศ ปัจจุบัน มวลน้ำดังกล่าวได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปแล้ว และระดับน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว และทางกรมชลประทาน ได้มีการผันน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับพายุยางิ ที่จะพัดเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน โดยล่าสุด ปัจจุบันที่ สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,474 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.22 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.82 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 3.52 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยาตรึงการระบายน้ำอยู่ที่ 1,498 ลบ.ม./วินาที เป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน ระดับน้ำเหนือเขื่อนท้ายเขื่อนลดลงต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร่องน้ำรับมวลน้ำเหนือและมวลน้ำจากฝนตกหนักตามการคาดการณ์ของกรมชลประทานและกรมอุตุนิยมวิทยา

โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า หลังจากการประชุม ครม.นัดพิเศษเมื่อวานนี้ ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้ที่ประชุมพิจารณาคำแถลงนโยบาย ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะมีการแถลงต่อสภาในวันที่ 12-13 กันยายน ที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ประกอบกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่หลายฝ่ายให้ความกังวลกับน้ำเหนือที่สภาวะน้ำท่วมอยู่ รวมทั้งพายุยางิ ที่กำลังจะเข้ามา ทางนายกรัฐมนตรีได้มีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ในพื้นที่ วันนี้ทาง รมว.เกษตรฯ และ รมช.เกษตรฯ ทั้ง 2 ท่าน จึงได้ลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลของสถานการณ์ จากทางผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และส่วนของกรมชลประทาน ซึ่งให้ความมั่นใจในเรื่องของการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้นจากพายุยางิได้ ทั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงแผนในการระบายน้ำให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด และสิ่งสำคัญคือเรื่องของการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนว่าจะต้องเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างไร ให้เกิดความมั่นใจไม่มีความกังวล ในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยต่างๆ