“คือสิบปีแห่งความเหนื่อยยาก  เป็นสิบปีที่ลำบากกับขวากหนาม ทุกก้าวย่างต้องมานะพยายาม พร้อมคำถามว่า ประมูลมาทำไม ประมูลมาด้วยความไม่รู้ ว่ากลไกที่ซ่อนอยู่เกินรับไหว แต่ละเดือน แต่ละปีที่ผ่านไป ต้องแอบถอนหายใจระหว่างวัน  ..เหลือเวลาอีก 5 ปี “คนทีวี” ยังพร้อมจะล่าฝัน เราจะสร้างพลัง หวังร่วมกัน ร่วมปักธง เป็นสถาบันทีวีไทย”

เป็นสารจาก “สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมโทรทัศน์ ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)   ที่น่าจะแทนใจของคนในแวดวงอุตสาหกรรมทีวีได้อย่างดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

  หลังครบรอบ  1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล ของประเทศไทย  ที่ ทาง กสทช. ได้เปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของในปี  57  และเหลือเวลาอีก 5 ปี หรือในปี 72 ที่อายุใบอนุญาตจะสิ้นสุดลง!

อนาคตทีวีดิจทัลจะไปต่ออย่างไร เมื่อภาพแห่งความเป็นจริง ต่างจากละครที่อยู่ใน “จอทีวี”ที่จะเขียนบทให้สวยหรูดูดีอย่างไรก็ได้?  แต่ในความเป็นจริง  เส้นทาง 10 ปี ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยขวากหนามและทางที่ขรุขระ!!

“สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมโทรทัศน์ ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)  กล่าวในงาน งาน ”1ทศวรรษทีวีดิจิทัล”ภายใต้แนวคิด Beyond the Next Step  ว่า  ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวี เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต จาก กสทช.  ท่ามกลางความหวังจนมีเงินเข้ารัฐกว่า 5 หมื่นล้านบาท   มากกว่าที่ กสทช.  คาดการณ์ไว้ที่ 13,000 ล้านบาท เท่านั้น ทำให้มีช่องทีวีดิจิทัลถึง 24 ช่อง แต่ปัจจุบันเหลือ 15 ช่อง

“เมื่อประกอบธุรกิจกลับไม่เป็นดังหวัง ที่จะให้รายการได้ถึงมือคนดูทุกบ้านผ่าน กล่อง Set Top Box  ที่ทาง กสทช. แจก กลับพบว่ามีคนดูได้แค่ 10%  ต้องยกคำที่ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บอกไว้ว่า เป็นการ “ส่งของไม่ถึงมือ” จนผู้ประกอบการต้องออกมาเรียกร้องให้เยียวยา เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อยากขึ้น จึงมีการเยียวยาจาก  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออก ม. 44 ในการยกเลิกจ่ายค่าใบอนุญาตงวดสุดท้าย และ ค่าเช่าโครงข่ายออกอากาศ  หรือ MUX  แต่ผู้ประกอบการก็ยังต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจ และ การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผลประกอยการไม่ได้เป็นไปดังคาดหวังล้วนเจ็บตัว และล้มหายตายจากกันไปหลายราย”

สุภาพ คลี่ขจาย

 “สุภาพ คลี่ขจาย”   บอกต่อว่า ช่วงเวลาที่เหลืออีก   5 ปี ของใบอนุญาต จึงอยากได้ความชัดแจน จาก กสทช. ว่าเมื่อหมดอายุใบอนุญาตจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อผู้ประกอบการจะได้เตรียมตัว  ท่ากลางบริบทที่เปลี่ยนไปทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมคนดู เม็ดเงินโฆษณา เพราะเหลือเวลาอีก 4-5 ปีเท่านั้น ซึ่งอย่างน้อยควรจะมีความชัดเจนเพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เตรียมตัวกัน ไม่ว่าจะจัดประมูลใบอนุญาตต่อ หรือจะจัดสรรใบอนุญาตด้วยวีธีใดที่ไม่ใช่การประมูล เป็นต้น

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม หรือ ช่องทางที่หลากหลายในการนำคอนเทนต์ออกอากาศมากขึ้น การประมูลใบอนุญาตในราคาที่แพง คงไม่สามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ เพราะการนำคอนเทนต์ออกบางช่องทางในปัจจุบันไม่ต้องมีใบอนุญาตและมีค่าใช้จ่าย แต่ตาม พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯกำหนดให้ต้องประมูล หากไม่ประมูลจะใช้วิธีต่อใบอนุญาต ต้องมีการแก้กฎหมายและต้องใช้เวลา ซึ่งสมาคมฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและ กสทช.ในหาทางออกที่ยุติธรรมกับทุกๆฝ่าย  ทั้งประเทศชาติ ประชาชนคนดู และผู้ประกอบการเอกชน เพื่อให้ทีวีดิจิทัลสามารถอยู่รอดได้ในฐานะแพลตฟอร์มฟรีทีวีของชาติที่ต้องมีอยู่ต่อไป

ข้อเรียกร้องและเสนอแนะของทางสมาคมฯ อาจจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก กสทช. ด้วยเงื่อนเวลาที่ยังยาวอีก 5 ปี และการทำงานที่ต้องอาศัยเป็นมติของทาง กรรมการ กสทช.ทั้งคณะ

โดย ทาง “สรณ บุญใบชัยพฤกษ์”  ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.)  บอกว่า  ด้วยระยะเวลาอีก 5 ปี ยังเร็วไปที่จะระบุแน่ชัดว่าจะทำอย่างไร เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก ช่วงที่มีการประมูลเมื่อ 10 ปี ก่อนก็ไม่มีใครคิดว่า ผ่านไปแค่ 1 ปี  อุตสาหกรรมทีวีจะถูกดิสรัปชั่นอย่างรวดเร็วจากบริการ Over The Top (OTT)  มีแพลตฟอร์มยูทูบ และการสตรีมมิ่ง เข้ามา การรับชมผ่านออนไลน์ และผ่าน IPTV

สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

“ตอนนี้ต้องดูว่า ในการกำกับดูแลของ กสทช. จะมี ก.ม.อะไรที่เข้าไปควบคุมได้หรือไม่ หรือเมื่อควบคุม OTT แล้ว เขาออกจากประเทศไปจะมีผลดีหรือผลเสียกว่ากัน  การเสนอต่ออายุใบอนุญาต ต้องมีการแก้กฎหมายก่อน เพราะกำหนดไว่ว่าต้องประมูล ซึ่ง สมาคมฯ และ กสทช. ต้องหารือกับรัฐบาล ซึ่งหากเห็นว่าควรแก้ ก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่สภาฯ เพื่อดำเนินการ  กสทช.คงไม่สามารถดำเนินการได้ฝ่ายเดียว เพราะทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้นต้องอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลด้วย”

ด้าน “พิรงรอง รามสูต”   กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์  บอกว่า โดยส่วนคิดว่าการประมูลเป็นสิ่งที่ OUT ตกยุคไปแล้ว แต่กสทช.เป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกันเป็นคณะ และมีหน้าที่กำกับดูแล เรื่องแก้กฎหมายก็ต้องรอความชัดเจนว่าจะใช้แนวทางไหน แต่ระหว่างนี้  เราก็มีนโยบายในการศึกษาจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ทีวีดิจิทัลอยู่รอดหลังปี 2572 ด้วย

พิรงรอง รามสูต

โดยผลศึกษฉากทัศน์อนาคตทีวีไทยที่ได้นั้น คือ ฉากทัศน์ที่ 1 : ทีวีไทยล่มสลายรัฐไม่แทรกแซง ไม่มีมาตรการใดๆ กิจการ Broadcast เดิมกับ OTT ยังคงกำกับดูแลต่างกัน จะส่งผลให้ แพลตฟอร์มระดับโลก (GAFAM) ยึดครอง ผู้บริโภคหันไปดูทีวีผ่าน OTT แทน ผู้ให้บริการ TV ดั้งเดิมสูญเสียรายได้ค่าโฆษณาจนต้องปิดตัวลงคนจน คนแก่ เสียสิทธิ เข้าถึงบริการสาธารณะ

ฉากทัศน์ที่ 2 : ทีวีไทยพอแข่งขันได้ (ระยะหนึ่ง) มีกฎหมายก ากับดูแล แพลตฟอร์ม OTT  มีมาตรการสนับสนุนให้ทีวีดั้งเดิมเข้าสู่ตลาดสตรีมมิ่งBVOD แต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป ตามกลไกตลาด ไม่มีการกระตุ้น ไม่แทรกแซง จะส่งผลให้เกิดเป็นตลาดที่ผสมผสาน ระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการระดับโลก และผู้ประกอบการรายใหญ่ฝั่ ง USA กับฝั่ง Asia แข่งกันเพื่อครอบครองกิจการไทย (ปลาใหญ่กินปลาเล็ก)

และ ฉากทัศน์ที่ 3 : ทีวีไทยสู่แพลตฟอร์มระดับโลก ปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กำจัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นอันตรายต่อกลุ่มเปราะบาง รวมถึงข่าวปลอมทั้งหลาย จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ จะส่งผลให้ อุตสาหกรรมทีวีไทยพัฒนาสู่ระดับสากล เช่นเดียวกับฝรั่งเศส และเกาหลี เนื้อหา Thai Wave เติบโตและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ กสทช. ก็ได้มีมาตรการส่งเสริม เช่น จัดทำ (ร่าง) ประกาศฯ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ OTT เพื่อสร้างมาตรฐานเท่าเทียม รอบรรจุเข้าที่ประชุมบอร์ด  และ (ร่าง) ประกาศฯมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อสร้างกลไกกำกับดูแลจริยธรรมกันเอง รอการพิจารณาของบอร์ดกสทช. เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กสทช.มีแผนทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ในการรวมคอนเทนต์ต่างๆ ให้ง่ายต่อการดูแล มีข้อมูลผู้บริโภค เพื่อใช้วางแผนในการซื้อโฆษณาได้

ช่วยให้เม็ดเงินโฆษณาไหลเวียนอยู่ในประเทศ แทนที่จะไหลออกไปนอกประเทศกับแพลตฟอร์มของต่างชาติ.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์